วันอังคาร, 30 เมษายน 2567
0
0

ไม้กลายเป็นหิน

              ไม้กลายเป็นหิน  หมายถึง ไม้ในสมัยดึกดำบรรพ์ที่กลายเป็นหิน ซึ่งเป็นผลมาจากเนื้อไม้เดิมถูกแทนที่ด้วยแร่ธาตุต่าง ๆ จากสารละลายในน้ำใต้ดิน คำในภาษาอังกฤษ คือ Petrified wood มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก

อ่านเพิ่มเติม...

แบบจำลอง 3 มิติฟอสซิล

 

              ในโลกแห่งความจริง (Real world) ทั้งโลกในอดีต โลกปัจจุบัน และโลกในอนาคตที่ไม่รู้จะเปลี่ยนแปลงไปเช่นไรยังมิอาจรู้ได้ มนุษย์ในปัจจุบันยังคงทำได้เพียงการสำรวจ การตรวจวัด และเก็บข้อมูล สรรพสิ่งต่างๆ บนโลกทั้งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป แล้วในอดีต และที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบัน และก็มีความพยายามที่จะนำข้อมูลต่างๆ เหล่านั้นมาวิเคราะห์ ประมวลผล และสร้างแบบจำลองเพื่อจะคาดการณ์อนาคต ซึ่งความถูกต้องนั้นก็ยังจำกัดอยู่ภายใต้กรอบความรู้ที่มี และข้อมูลที่มี สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ให้ความสำคัญอย่างมาก คือ ข้อมูล ซึ่งการเก็บข้อมูลสรรพสิ่งต่างๆ บนโลกก็มีมาตรวัดกันอยู่ทั้งเชิงปริมาณ และเชิงคุณภาพ แต่จะวัดอย่างไรให้มีความถูกต้องตรงตามความเป็นจริงทั้งหมดนั้นเป็นสิ่งกระทำได้ยาก เช่น หากเราจะตรวจวัดรูปร่างของมนุษย์ การวัดที่เราคุ้นเคย ได้แก่ ส่วนสูง รอบเอว น้ำหนัก เป็นต้น ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ก็สามารถใช้อธิบายรูปร่างของมนุษย์แต่ละคนได้ และสามารถใช้ประโยชน์ได้ในระดับที่ต้องการ ซึ่งในงานแต่ละด้านก็มีความจำเป็นต้องใช้ข้อมูลที่มีความละเอียดแตกต่างกันไป ซึ่งเทคโนโลยีการสำรวจ การตรวจวัด ในเกือบๆ จะทุกศาสตร์มีแนวโน้มที่มุ่งเน้นการตรวจวัดที่มีความถูกต้องแม่นยำสูง ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์คลี่คลายปริศนาต่างๆ ที่ยังไม่สามารถอธิบายได้ด้วยข้อมูลหยาบๆ ในอดีต ซึ่งในศาสตร์ด้านการรับรู้จากระยะไกล (remote sensing) เป็นศาสตร์และศิลปะในการได้มาซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับวัตถุ พื้นที่ และปรากฏการณ์ จากเครื่องรับรู้ (sensor) โดยปราศจากการเข้าไปสัมผัสวัตถุเป้าหมาย ทั้งนี้อาศัยพลังงานของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (electromagnetic energy) เป็นสื่อในการได้มาซึ่งข้อมูล ซึ่งมีคุณสมบัติ 3 ประการ คือ ลักษณะการสะท้อนช่วงคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ลักษณะเชิงพื้นที่ของวัตถุบนผิวโลก และลักษณะการเปลี่ยนแปลงของวัตถุตามช่วงเวลา ซึ่งก็มีการประยุกต์ที่เกี่ยวข้องกับงานด้านซากดึกดำบรรพ์ เช่น การสำรวจภูมิประเทศแหล่งขุดค้นด้วย LIDAR (Light Detection and Ranging) การสำรวจรังวัดด้วยภาพ (Photogrammetric) รวมไปถึงการใช้เครื่องมือในการสแกนซากดึกดำบรรพ์เพื่อสร้างเป็นแบบจำลอง 3 มิติ (3D Laser Scan) ซึ่งเมื่อจัดเก็บข้อมูลเหล่านี้อย่างเป็นระบบในคอมพิวเตอร์แล้ว สามารถนำมาวิเคราะห์ประมวลและสร้างการจำลองแบบ (Simulation) วัตถุ หรือปรากฎการณ์ที่สนใจได้

 

ตัวอย่าง LIDAR ที่ใช้ในการสำรวจแหล่งฟอสซิล Joggins Fossil Cliffs UNESCO World Heritage Site
ที่มา : http://jogginsfossilcliffs.blogspot.com/2011/05/lidar-at-joggins-fossil-cliffs-unesco.html

 

จากจดหมายข่าว Khorat Fossil  Museum News  ปีที่ 1 ฉบับที่ 4  ประจำเดือนพฤศจิกายน 2555

 

ชื่อนั้นสำคัญไฉน

 

               อันที่จริงฉบับนี้ผมตั้งใจจะเขียนเรื่องของช้างฝากท่านผู้อ่าน แต่พออยู่ในขั้นตอนการสืบค้นข้อมูลก็ปวดหัวไม่น้อย อ่านข้อมูลของช้างตัวนั้นตัวนี้หลายตัวเข้าก็ชักงงแฮะ! เลยคิดว่า ขนาดเราอยู่กับซากมานานก็ยังงง แล้วคนที่เรียนคนละสายก็คงจะปวดหัวกับการจำชื่อศัพท์แสงต่างๆ เกี่ยวกับซากไม่น้อย ว่าแล้วก็เลยคิดได้ หากรู้ความหมายของคำ ก็อาจจะช่วยให้จดจำได้ง่ายขึ้นไม่มากก็น้อย แต่ก่อนที่จะไปว่าถึงเรื่องชื่อของช้างดึกดำบรรพ์ ผมจะขอแนะนำหลักการตั้งชื่อสิ่งมีชีวิตทางวิทยาศาสตร์กันก่อน ถือเป็นการปูพื้นฐานนะครับ อ่า!!สำหรับท่านที่เรียนมาทางสายวิทยาศาสตร์ก็คงจะเข้าใจเป็นอย่างดี แต่ท่านที่ไม่ได้เรียนมาทางสายนี้ก็อาจจะไม่เข้าใจ ดังนั้น ผมจะขอเล่าให้ฟังอย่างคร่าวๆ ละกันครับ 
                การตั้งชื่อสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ทางวิทยาศาสตร์นั้น จริงๆ เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี ค.ศ 1623 โดยพี่น้องชาวสวิส นามว่า กาสปาร์ โบแอง (Gaspard Bauhin) และชอง โบแอง (Jean Bauhin) ซึ่งกำหนดให้ชื่อวิทยาศาสตร์ของสิ่งมีชีวิตประกอบด้วย 2 ส่วน โดยส่วนแรก คือชื่อของ "จีนัส  (Genus หรือ Generic name หรือชื่อสกุลนั่นเอง)"    และส่วนที่สองคือชื่อ  "ระบุสปีชีส์ (Specific name)" และเรียกการตั้งชื่อที่ประกอบด้วยชื่อ 2 ส่วนนี้ว่า "การตั้งชื่อแบบทวินาม (binomial nomenclature) แต่การตั้งชื่อวิทยาศาสตร์กลับเริ่มใช้กันอย่างแพร่หลายหลังจากที่ คาร์ล ลินเนียส นักวิทยาศาสตร์ชาวสวีเดน ได้พิมพ์ผลงานเรื่อง Species Plantarum ในปี ค.ศ.1753 และ Systema Naturae ในปี ค.ศ. 1758 เผยแพร่ (หลังพี่น้องตระกูลโบแองตั้ง 130 ปี) และเป็นที่ยอมรับกันมากในหมู่นักวิทยาศาสตร์ทั่วไป 


               โดยการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์มีกฎเกณฑ์การตั้งคือ 1) ชื่อพืชและสัตว์ต้องแยกกันอย่างชัดเจน 2) มีชื่อที่ถูกต้องเพียงชื่อเดียวเท่านั้น 3) เป็นภาษาละติน เนื่องจากเป็นภาษาที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงของคำ 4) การเขียนชื่อวิทยาศาสตร์ ต้องแตกต่างจากคำอื่น คือ เขียนเป็นตัวเอน, ตัวหนา, ขีดเส้นใต้ เช่น Homo sapiens (ชื่อของคนเรานี่เองครับ) 5) จะใช้ชื่อ Genus หรือ species ซ้ำกันไม่ได้ 6) ประกอบด้วยคำ 2 คำเสมอ คือ ในส่วนคำแรกเป็น ชื่อสกุล (Genus) จะเขียนตัวอักษรแรกเป็นตัวพิมพ์ใหญ่ ในส่วนคำหลังเป็นชื่อระบุสปีชีส์ (Species) เป็นตัวพิมพ์เล็กหมด เป็นคำเดียวหรือคำผสม 7) ชื่อผู้ตั้ง นำด้วยตัวใหญ่ ไว้ด้านหลัง เช่น Carirosquilla thailandensis Naiyanetr, 1992 ในที่นี้ Carirosquilla thailandensis คือ Species ของสิ่งมีชีวิต โดย Carirosquilla คือ ส่วนของ Genus และ thailandensis คือ ส่วนของ specific ส่วน Naiyanetr คือชื่อผู้ตั้ง และ 1992 คือปีที่ตั้ง
              หลักการตั้งชื่อ คือ ตั้งตามสถานที่พบ เช่น ชื่อช้าง Stegodon orientalis (oriental = ภูมิภาคเอเชีย) ตั้งเป็นเกียรติให้บุคคลที่นับถือ เช่น ชื่อปูราชินี Thaiphusa sirikit  ตั้งเป็นเกียรติให้คนที่พบหรือตั้งตามขนาดตัวอย่าง เช่น ชื่อปลาบึก Pangasianodon gigas (gigas แปลว่า ใหญ่) และตั้งตามลักษณะ เช่น ชื่อปู Podophthalmus vigil (vigil แปลว่า ยาม, เฝ้ายาม) เพราะเป็นปูที่มีลักษณะตาเปิดออกเหมือนเฝ้ายามอยู่ตลอดเวลา

 
                การตั้งชื่อทางวิทยาศาสตร์ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกเยอะนะครับ โดยเฉพาะการใช้คำต่อท้าย เช่น ถ้าเป็นการตั้งชื่อสัตว์ระดับวงศ์ (Family) ให้ใช้คำต่อท้ายด้วย –idae ออกเสียงว่า “อิดี”  ชื่อสกุลต่อท้ายด้วย  “-ius”  “-us” “-um” “-ia” “-ium” หรือ “-a”  เป็นต้น  การตั้งชื่อชนิดใช้คำต่อท้ายด้วย  "-ides" และ "-oides" การตั้งชื่อเป็นเกียรติบุคคล ถ้าเป็นผู้ชายคนเดียวต่อท้ายด้วย "i" ออกเสียงว่า “ไอ” ผู้ชายหลายคนหรือชื่อสกุลที่หมายรวมถึงผู้ชายและผู้หญิงลงท้ายด้วย "-orum" ผู้หญิงคนเดียวลงท้ายด้วย "-ae" ออกเสียงว่า “อี” ถ้าจะทำให้ชื่อที่ตั้งเพื่อเป็นเกียรติเป็นคำคุณศัพท์เพศชาย ให้ต่อท้ายด้วย  "-ianus"  เพศหญิงให้ต่อท้ายด้วย  "-iana"    และถ้าไม่มีเพศให้ต่อท้ายด้วย  "-ianum"  เป็นต้น
                เขียนมาถึงตรงนี้ เนื้อที่ก็หมดซะแล้ว ฉบับหน้ามาว่ากันต่อเรื่องชื่อของช้างในสวนหินมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมานะครับผม....บ๊ายบาย....

 

จากจดหมายข่าว Khorat Fossil  Museum News  ปีที่ 2 ฉบับที่  3 ประจำเดือนมีนาคม 2556

 

ช้างดึกดำบรรพ์ไทยกับชื่อ

 

                มาตามสัญญานะครับว่าฉบับนี้จะนำเรื่องชื่อของช้างดึกดำบรรพ์ในสวนหินราชภัฎมาฝากท่านผู้อ่าน หลังจากที่ฉบับก่อนผมได้ปูพื้นฐานเรื่องการตั้งชื่อทางวิทยาศาสตร์กันมาแล้ว ท่านที่เพิ่งจะหยิบ Khorat Fossil Museum News มาอ่านครั้งแรก ก็อาจจะติดตามข้อมูลดังกล่าวได้ในฉบับที่แล้วครับ เรามาเริ่มกันเลยดีกว่านะครับ..         
                 
               สำหรับรูปปั้นช้างภายในสวนหินของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา มีอยู่ทั้งหมด 10 ตัวด้วยกัน เรามาว่าตั้งแต่เจ้าตัวเล็กสุดเลยละกัน สำหรับเจ้านี่คนทั่วไปอาจจะมองเห็นเป็นลูกช้าง แต่ความจริงแล้ว เค้าเคยถูกขึ้นบัญชีชี้ว่าเป็นต้นตระกูลของสัตว์งวงทั้งปวง นามว่า มีริธีเรียม ตัวขนาดเท่าหมูเขื่อง ก่อนที่จะถูกเจ้าอีริธีเรียม (Eritherium) ตัวเท่ากระต่ายโค่นบัลลังกลายเป็นบรรพบุรุษของเหล่าสัตว์งวงแทน ..เจ้ามีริธีเรียม เขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า Moeritherium มาจากการผสมคำ คือ Moeris เป็นชื่อของทะเลสาบในแอ่งสะสมตะกอน Al Fayyum  ประเทศอียิปต์ กับคำว่า therion และคำต่อท้าย –ium ที่หมายถึง Wild beast หรือสัตว์ป่า ดังนั้น ชื่อสกุลของ Moeritherium คือสัตว์ป่าหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจาก Moeris นั่นเอง แต่เจ้านี่ไม่พบในบ้านเรานะครับ 

 

              ตัวต่อไป ที่ยืนจังก้ายกขาหน้าชูงวงหาว เอ่อ!! ชูงวงเด่นเป็นสง่า มี 4 งา ที่งอกจากขากรรไกรบนและล่าง เจ้านี่มีชื่อสุดเก๋ว่า กอมโฟธีเรียม เขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า Gomphotherium มาจากการผสมคำว่า Gomphos ที่แปลว่า เชื่อมต่อ (joint) กับคำว่า therion และคำต่อท้าย –ium ดังนั้น Gomphotherium จึงหมายถึง สัตว์ที่มีลักษณะบางอย่างที่เป็นรอยเชื่อมต่อ (Welded Beast) การตั้งชื่อเจ้านี่มาจากลักษณะของงาซึ่งคู่บนโค้งงอลงมาจนชิดติดกับคู่ล่าง เมื่อใช้งานจะเกิดการเสียดสีจนงาทั้งคู่บนและล่างสึกไปพร้อมๆ กัน อีกทั้งหากพิจารณาจากลักษณะฟันที่เป็นปุ่มคล้ายเต้านม (แบบกรวย) แบบปุ่มใหญ่ๆ ซึ่งถือเป็นรูปแบบฟันแบบดั้งเดิม และฟันที่มีพัฒนาการโดยการแบ่งปุ่มฟันให้มากขึ้น ซึ่งเป็นลักษณะของสัตว์งวงกลุ่มใหม่ ดังนั้นกอมโฟธีเรียมจึงถือเป็นรอยเชื่อมต่อระหว่างสัตว์งวงกลุ่มดั้งเดิม (ปุ่มฟันใหญ่มีไม่กี่ปุ่ม) และกลุ่มใหม่ (ปุ่มฟันแบ่งย่อยเล็กๆ หลายปุ่ม) ซึ่งเรียกสัตว์งวงที่มีลักษณะฟันคล้ายกอมโฟธีเรียมนี้ว่า พวกกอมโฟแธร์ (Gomphothere) 

 

              นอกจากนั้น ในช่วงประมาณ 18 ล้านปีก่อน (กลางสมัยไมโอซีน)  แผ่นเปลือกโลกแอฟริกามาชนและเชื่อมต่อกับแผ่นยูเรเชีย  ทำให้ท้องทะเลกลับกลายเป็นผืนดินเชื่อมต่อกัน  เกิดการอพยพย้ายถิ่นของสัตว์น้อยใหญ่  โดยเฉพาะกอมโฟธีเรียม จนเรียกขานสถานที่เชื่อมต่อนี้ว่า “สะพานแผ่นดินกอมโฟธีเรียม” (Gomphotherium landbridge) ดังนั้น ชื่อ กอมโฟธีเรียม ที่หมายถึงร่องรอยการเชื่อมต่อ จึงเป็นอะไรที่เหมาะสมที่สู๊ดดดด นั่นเอง..ตัวต่อไปเป็นช้างตัวใหญ่ที่ยืนจังก้า มีงาเฉพาะด้านล่างและโค้งงอลงมา เราเลยตั้งชื่อให้มันว่าช้างงาจอบ ส่วนชื่อเสียงเรียงนามเจ้าตัวนี้จริง ๆ คือ ไดโนธีเรียม(Deinotherium) มาจากการผสมคำว่า Deinos ซึ่งหลายท่านแปลว่า น่าสะพรึงกลัว (terrible) เนื่องจากการค้นพบโครงกระดูกเจ้าตัวนี้สูงใหญ่ราวท้องสะพานลอย บวกกับคำว่า therion และคำต่อท้าย –ium ดังนั้น ไดโนธีเรียม จึงหมายถึง สัตว์ป่าที่น่าสะพรึงกลัว 

               เขียนมาได้สามตัวก็ต้องลากันแล้วล่ะครับ เอาเป็นว่าฉบับหน้าฟ้าใหม่ ผมจะมาเล่าต่อตัวที่เหลือ แม้รูปปั้นจริงจะไม่เหลือ แต่ก็จะเติมส่วนที่ค้างให้เต็มกระบวนความ..เจอกันใหม่ครับผม…

 

 


รูปปั้นช้างมีริธีเรียม ช้างกอมโฟธีเรียม และช้างไดโนธีเรียม ในสวนหิน ม.ราชภัฏนครราชสีมา

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : 
1.     Harzhauser et al., 2007. Biogeographic responses to geodynamics: A key study 
             all around the Oligo–Miocene Tethyan Seaway. Zoologischer Anzeiger, 
             246: 241–256.
2.     http://en.wikipedia.org/wiki/Deinotherium
3.     http://de.wikipedia.org/wiki/Gomphotherium
4.     http://en.wikipedia.org/wiki/Moeritherium 

 

จากจดหมายข่าว Khorat Fossil  Museum News  ปีที่ 2 ฉบับที่  4 ประจำเดือนเมษายน 2556

 

ฮิปโปโคราช

 

               ขอสวัสดีแฟนคอลัมน์เรื่องของซากที่ไม่ซ้ำซากทุกท่านค่ะ ฉบับนี้มาพบกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตัวอ้วนกลมขนาดใหญ่ ซึ่งก็คือ เจ้าฮิปโปนั่นเอง เคยเชื่อกันว่าฮิปโปอยู่ในตระกูลเดียวกับหมู แต่ปัจจุบันนี้พบว่าญาติสนิทที่สุดของมันคือปลาวาฬ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบนบกที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 3 รองจากช้างและแรด ในปัจจุบันพบฮิปโปอาศัยอยู่ตามธรรมชาติในทวีปแอฟริกาและเหลืออยู่เพียง 2สายพันธุ์ ได้แก่ ฮิปโปยักษ์ (Hippopotamus amphibius) มักอาศัยอยู่ใกล้แหล่งน้ำ ตามแม่น้ำกว้างสายใหญ่ที่มีน้ำใสสะอาด และสายพันธุ์ที่ 2 คือ ฮิปโปแคระ  (Choeropsis liberiensis)   ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าทึบทางตะวันตกเฉียงเหนือของแอฟริกา จึงยากต่อการพบเห็นและไม่รู้จักนิสัยใจคอของเจ้าฮิปโปแคระนี้มากนักเมื่อเทียบกับเจ้าฮิปโปยักษ์

 

 ที่มาภาพ : http://centerforinternationalsportbusiness.blogspot.com/2010/06/south-africas-big-five.html

 

               แม้ว่าฮิปโปจะไม่ได้จัดรวมไว้ในกลุ่มสัตว์ห้ายักษ์ใหญ่แห่งป่าแอฟริกา  หรือเป็นที่รู้จักกันดีในชื่อ  บิ๊กไฟว์  (Big Five)ที่ประกอบด้วย ช้าง เสือดาว สิงโต ควายป่า และแรด แต่ก็ได้รวมไว้ใน “สัตว์ยักษ์อันตรายทั้งเจ็ด” หรือ แดนเจอรัสเซเว่น(Dangerous 7) ที่รวมเอาจระเข้และฮิปโปเข้าไว้ด้วยกัน

 

                ในเมืองไทยมีบันทึก การพบซากโครงกระดูกฮิปโปจากแม่น้ำเจ้าพระยา ในเขตจังหวัดนครสวรรค์  ทำให้ทราบว่า ในอดีตเมืองไทยเรามี ฮิปโปอาศัยอยู่ และได้สูญพันธุ์ไปไม่นานนัก  และแทบไม่น่าเชื่อว่าฮิปโปเคยอยู่ในเมืองไทยมาแล้วเมื่อกว่า 10 ล้านปีก่อน จากการพบฟอสซิลกรามล่างเกือบสมบูรณ์ของฮิปโป จากบ่อทรายในตำบลท่าช้าง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครราชสีมา จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่าเป็นพวก ฮิปโปดึกดำบรรพ์ สกุล เฮกซะโปรโตดอน (Hexaprotodon) มีลักษณะเด่นที่กรามมีฟันตัดจำนวนรวมข้างซ้ายและขวาทั้งหมด 6 ซี่ ส่วนฮิปโปปัจจุบันมีจำนวนรวม 4 ซี่ ก่อนหน้านี้มีการค้นพบฟอสซิลสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ อาทิเช่น ช้างมาสโตดอน เสือดาว แรด ควายป่า ฯลฯ จากแหล่งบ่อทรายท่าช้าง เมื่อเทียบกับยักษ์ใหญ่แห่งป่าแอฟริกาแล้ว โคราชในอดีตก็เป็นดินแดนบิ๊กไฟว์เช่นกัน ขาดก็แต่เพียงเจ้าสิงโต ซึ่งอาจจะรอคอยการค้นพบในเร็ววัน และเชื่อว่าเราก็น่าจะมี Dangerous 7 ของเมืองไทยเช่นกัน ด้วยการค้นพบฟอสซิลฮิปโปชิ้นนี้ ทำให้ทราบว่า ในอดีตป่าบริเวณตำบลท่าช้าง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครราชสีมานั้น มีป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งอาหารของสัตว์ป่า และยังมีทุ่งหญ้าขึ้นปกคลุมอีกทั้งยังมีแม่น้ำที่คาดว่าเป็นแม่น้ำมูนในอดีตที่ลำน้ำกว้างใหญ่ ใสสะอาด ให้เจ้าฮิปโปและผองเพื่อนได้อาศัยอยู่มาอย่างยาวนาน

 

 

 

 

 

จากจดหมายข่าว Khorat Fossil  Museum News  ปีที่ 2 ฉบับที่  5 ประจำเดือนพฤษภาคม 2556 

 

 

   
         
   

264362
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
15
107
234
263117
2907
3578
264362

Your IP: 52.14.130.13
2024-04-30 04:17