วันพฤหัสบดี, 16 พฤษภาคม 2567
0
0

สยามโมดอน นิ่มงามมิ

 

               ปัจจุบันพบฟอสซิลของอิกัวโนดอนต์ชนิดใหม่ของโลกในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาแล้ว อย่างน้อย 3 ชนิด  สองชนิดแรกได้รับการตั้งชื่อและตีพิมพ์เผยแพร่แล้ว ส่วนชนิดที่สามอยู่ระหว่างการตีพิมพ์เผยแพร่  ฉบับที่แล้วเราได้ทำความรู้จักกับอิกัวโนดอนต์โคราชไปแล้วหนึ่งชนิด นั่นคือ ราชสีมาซอรัส สุรนารีเอ ฉบับนี้อยากแนะนำอิกัวโนดอนต์โคราชอีกชนิดหนึ่งที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่แล้วเช่นกัน นั่นคือ สยามโมดอน นิ่มงามมิ  (Siamodon nimngami)  โดยฟอสซิลของ สยามโมดอน นิ่มงามมิ  ถูกพบที่บ้านสะพานหิน     ต.สุรนารี อ.เมืองนครราชสีมา โดยพบชิ้นส่วนที่เป็นกระดูกขากรรไกรบนด้านซ้าย และพบฟันบนขากรรไกร 1 ซี่ รวมทั้งพบกระดูกด้านท้ายทอยด้วย ขากรรไกรที่พบเป็นรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่ว มียอดสามเหลี่ยมไม่สูงนัก ความยาวด้านหน้ากับด้านหลังสามเหลี่ยมเกือบเท่าๆ กัน และมีส่วนยื่นของกระดูกโหนกแก้มเป็นแถบแบน ลักษณะขากรรไกรบนของ สยามโมดอน นิ่มงามมิ  มีความคล้ายคลึงกับขากรรไกรบนของไดโนเสาร์ โปรแบคโตรซอรัส (Probactrosaurus) จากประเทศจีน มากที่สุด โดยพิจารณาจากลักษณะที่มีส่วนยื่นของกระดูกโหนกแก้มที่เป็นแถบแบนเหมือนๆ กัน

             ฟอสซิลของอิกัวโนดอนต์โคราชชนิดนี้พบในชั้นหินกรวดมนปนปูนของหมวดหินโคกกรวด   ซึ่งมีอายุอยู่ในยุคครีเท-เชียสตอนต้นหรือประมาณ 100 ล้านปีที่แล้ว

 ชื่อ สยามโมดอน นิ่มงามมิ นั้น ชื่อสกุล “สยามโมดอน” แปลว่า ฟันแห่งสยาม ส่วนชื่อเฉพาะชนิด “นิ่มงามมิ” ตั้งเพื่อเป็นเกียรติแก่คุณวิทยา นิ่มงาม ผู้ค้นพบฟอสซิลดังกล่าว

 

แหล่งข้อมูล : 
1. http://th.wikipedia.org/wiki/สยามโมดอน
2. Eric Buffetaut and Varavudh Suteethorn (2011).   "A new iguanodontian dinosaur 
           from the Khok Kruat Formation   (Early Cretaceous, Aptian) of northeastern 
           Thailand" Annales de Paléontologie 9 (1) : 51-62.

 

จากจดหมายข่าว Khorat Fossil  Museum News  ปีที่ 2 ฉบับที่ 2 ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2556 

 

ราชสีมาซอรัส สุรนารีเอ

 

               เมื่ออ่านจากชื่อแล้วคงจะเดาได้ไม่ยากว่าอิกัวโนดอนต์พันธุ์ไทยตัวแรกนั้นถูกค้นพบที่ใด (ลองเดากันดูสิคะ) ...ถูกต้องค่ะ!!... ไดโนเสาร์ตัวนี้พบที่จังหวัดนครราชสีมา มีชื่อเรียกสั้นๆ ว่า อิกัวโนดอนต์โคราช    ส่วนชื่อวิทยาศาสตร์คือ  ราชสีมาซอรัส สุรนารีเอ (ชื่อตัวแรกเป็นชื่อสกุล ส่วนชื่อที่สองเป็นชื่อชนิด) แปลว่า กิ้งก่าแห่งเมืองนครราชสีมา  โดยชื่อชนิดถูกตั้งขึ้นเพื่อถวายเป็นเกียรติแด่ ท่านท้าวสุรนารี หรือ คุณย่าโม นั่นเอง  ส่วนคำว่า อิกัวโนดอนต์ หมายถึง กลุ่มไดโนเสาร์สกุลอิกัวโนดอนและสกุลอื่นๆ ที่คล้ายสกุลอิกัวโนดอน เช่น อูราโนซอรัส, โปรแบคโตรซอรัส, ราชสีมาซอรัส ฯลฯ

               ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับเจ้าอิกัวโนดอนต์กันก่อนนะคะ ว่าเขาถือกำเนิดขึ้นเมื่อใด และในโลกนี้พบได้ที่ไหนบ้าง  ซากอิกัวโนดอนต์ถูกค้นพบโดยบังเอิญในปี ค.ศ. 1822 เมื่อนักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษ ชื่อ กีเดียน แมนเทล (Gideon Mantell) เดินไปสะดุดเข้ากับซากฟันสัตว์เลื้อยคลานกินพืช ขณะเดินเล่นริมชายหาด ณ เมืองซัซเซก (Sussex) เดิมทีเข้าใจผิดคิดว่าเป็นฟันของจระเข้ยักษ์ ต่อมาในปี ค.ศ. 1825 กีเดียน แมนเทล ก็ได้ตั้งชื่อให้ว่า อิกัวโนดอน (Iguanodon) ที่แปลว่า มีฟันคล้ายอิกัวน่า

               อิกัวโนดอน ถือเป็นไดโนเสาร์ 1 ใน 3 สกุลแรกที่ถูกตั้งชื่อและจัดแสดงต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรกร่วมกับ Megalosaurus  และ Hylaeosaurus หรือกล่าวได้ว่าเป็นไดโนเสาร์กินพืชชนิดแรกที่ถูกตั้งชื่อขึ้น และมีการฉลองความสำเร็จแห่งการค้นพบ  โดยจัดงานเลี้ยงภายในหุ่นจำลองอิกัวโนดอนต์ตัวแรกของโลก   ปัจจุบันซากฟันอิกัวโนดอนนี้ได้จัดแสดงอยู่ ณ พระราชวัง Crystal Palace ประเทศอังกฤษ

 


ภาพจาก http://illustratorpod.co.uk/?portfolio=iguanodon-dinner-2

                อิกัวโนดอนต์ เป็นไดโนเสาร์กลุ่มออนิโธพอด หรือเป็นไดโนเสาร์ที่มีสะโพกแบบนก กินพืชพวกเฟิร์นและหญ้าหางม้าเป็นอาหาร ขาหน้าสั้นกว่าขาหลัง มักเดินสองเท้าหรือเดินสี่เท้าเป็นครั้งคราว  นิ้วมือและเท้ามี 5 นิ้ว สามารถงุ้มงอนิ้วเพื่อจับกิ่งไม้ได้ และมีนิ้วโป้งขนาดใหญ่ที่สันนิษฐานว่าอาจจะมีไว้เพื่อเป็นอาวุธป้องกันตัว มีปลายปากคล้ายเป็ด และคาดว่าน่าจะมีลิ้นยาวตวัดอาหารเข้าปาก มีน้ำหนักอยู่ราว 3.5 ตัน และมีความยาวลำตัวจากหัวถึงปลายหางราว 10 เมตร ชอบอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูง เคยมีชีวิตอยู่ในช่วงยุคจูแรสซิกตอนกลางถึงยุคครีเทเชียสตอนปลาย ในบริเวณป่า (woodland) ของทวีปแอฟริกา อเมริกาเหนือ ยุโรป เอเชีย และออสเตรเลีย

               สำหรับอิกัวโนดอนต์โคราชหรือ ราชสีมาซอรัส จัดอยู่ในกลุ่มอิกัวโนดอนต์ ที่มีรูปร่างขากรรไกรคล้ายกับ Iguanodon bernissartensis ซึ่งพบที่เบลเยียม และ Ouranosaurus nigeriensis ซึ่งพบที่ไนเจอร์ โดยมีขากรรไกรเป็นแนวตรง ร่องฟันโค้งตามรูปฟัน และโคนขากรรไกรชี้ไปด้านหลัง ลักษณะที่โดดเด่นก็คือ ขากรรไกรเรียวยาวมีความยาวมากกว่าความสูงถึง 6 เท่า ซึ่งในสายพันธุ์อื่นๆ อยู่ที่ 3-5 เท่า   ดังนั้น ราชสีมาซอรัส  จึงเป็นอิกัวโนดอนต์สายพันธุ์ใหม่ของโลกและเป็นสายพันธุ์แรกของเมืองไทย

 

แหล่งข้อมูล :
1.  Shibata, M., Jintasakul, P., and Yoichi, A., 2011.  A new iguanodontian dinosaur from 

            the Lower Cretaceous Khok Kruat Formation, Nakhon Ratchasima in 
            Northeastern Thailand. Acta Geologica Sinica, 85 (5): 969-976. 
2.  http://www.britannica.com/EBchecked/topic/282449/Iguanodon     
3.  http://en.wikipedia.org/wiki/Iguanodon

 

จากจดหมายข่าว Khorat Fossil  Museum News  ปีที่ 2 ฉบับที่ 1  ประจำเดือนมกราคม 2556

 

ตัวเลขกับสัตว์โลก 2

 

               ฉบับที่แล้วกระผมทิ้งท้ายไว้ที่ความใหญ่โตมโหฬารของเจ้าวาฬสีน้ำเงิน กับไดโนเสาร์ตัวมหึมา คราวนี้ขอย้อนกลับมาที่ปัจจุบันกาลอีกครั้งหนึ่ง เราทราบแล้วว่าสัตว์โลกที่ใหญ่ที่สุด ณ บัดนาว คือเจ้าวาฬสีน้ำเงิน ซึ่งดำรงชีพในมหาสมุทรสุดลูกตา แต่ถ้าพิจารณาเฉพาะพื้นปฐพี  มีใครหนอที่ครองความยิ่งใหญ่... เป็นใครไปไม่ได้นอกจากเจ้าช้างนี่เองครับ พอพูดถึงช้างทุกท่านก็คงต้องร้องอ๋อ แต่หลายท่านอาจจะยังไม่แน่ใจนักว่าช้างใดใหญ่สุด คำตอบ คือ ช้างแอฟริกาครับ โดยช้างแอฟริกานั้นสูงใหญ่ประมาณ 3.2 - 4 เมตร หนักราวๆ 6 ตัน (เฉลี่ยประมาณ 4.9 ตัน และหนักสุดได้ถึง 12.4 ตัน) ขณะที่ช้างเอเชียเราสูงใหญ่สุดได้ประมาณ 3.4 เมตร หนักราวๆ 5 ตัน และพอพูดถึงเรื่องช้างท่านผู้อ่านหลายท่านอาจจะยังไม่ทราบว่าปัจจุบันเราหลงเหลือช้างบนโลกอยู่เพียง 2 สกุลเท่านั้นนะครับ คือช้างแอฟริกาในสกุล Loxodonta และช้างเอเชียในสกุล Elephas และที่น่าสนใจในสถิติก็คือ ช้างในอดีตมีถึง 43  สกุล 174 ชนิด (มันหายไปไหนกันหมดครับ) นอกจากนั้นในบรรดา 43 สกุล ยังมีบางชนิดอย่างเจ้า Mammuthus sungari (ช้างแมมมอธซุงการิ) ที่สูงใหญ่ได้ถึง 5.3 เมตร (สูงประมาณใต้ราวสะพานลอยที่เราเดินข้ามกัน) ซึ่งถือเป็นสถิติความใหญ่โตสุดของเหล่าสัตว์งวงทั้งปวงด้วย

              ความใหญ่โตแม้จะทำให้ได้เปรียบในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะความปลอดภัยจากเหล่านักล่า  แต่ก็เป็นข้อด้อยอย่างมากสำหรับการดำรงชีวิตให้อยู่รอดเมื่อเทียบกับปริมาณอาหารที่มีจำกัดและถิ่นที่อยู่อาศัยที่ถูกมนุษย์รุกล้ำมากขึ้น แม้กระทั่งสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปและส่งผลให้พืชพรรณที่เป็นแหล่งอาหารลดน้อยลง ทำให้ปริมาณสัตว์ใหญ่อย่างช้าง มีจำนวนน้อยลงด้วย จากสถิติในปี พ.ศ. 2550 พบว่าช้างป่าแอฟริกาทั่วโลกมี จำนวน 470,000 - 690,000 ตัว ส่วนช้างเอเชียมีจำนวน 60,000 ตัว คิดเป็นหนึ่งในสิบของประชากรช้างแอฟริกา โดยแยกเป็นช้างป่าประมาณ 41,410 - 52,345 ตัว และช้างเลี้ยงประมาณ 14,500 - 15,300 เชือก และอาจมีอีกราว 1,000 เชือก ที่อยู่กระจัดกระจายไปตามสวนสัตว์ทั่วโลก แม้ปัจจุบันที่หลายหน่วยงานพยายามอย่างยิ่งในการอนุรักษ์สัตว์ใหญ่อย่างช้างหรือแม้แต่วาฬสีน้ำเงิน  ทำให้ปริมาณช้างแอฟริกามีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปีตั้งแต่กลางคริสต์ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา แต่ช้างไทยกลับมีปริมาณลดน้อยลงเรื่อยๆ จากการที่มนุษย์ได้รุกล้ำถิ่นที่อยู่อาศัยของช้าง ทำให้มีช้างป่าเหลืออยู่เพียง 2,800 ตัว และช้างเลี้ยงเพียง 1,200 เชือกเท่านั้น และเมื่อพิจารณาตัวเลขทั้งหมดแล้ว ถือว่าน่าเป็นห่วงต่อการสูญพันธุ์เป็นอย่างมาก  จากวิกฤติดังกล่าวทำให้กองทุนสัตว์ป่าโลก (World Wide Fund For Nature, WWF International) ได้ประกาศให้มีวันช้างโลกขึ้น เพื่อย้ำเตือนให้ผู้คนได้ตระหนักถึงเจ้าสัตว์ใหญ่แห่งไพรพงและหันมาร่วมกันอนุรักษ์ รวมทั้งร่วมกันแก้ไขปัญหาคาใจระหว่างช้างกับคน จนเกิดการเข่นฆ่า โดยยึดเอาวันที่  12 สิงหาคมของทุกปีเป็นวันช้างโลก   เอ๊ะ!! ตัวเลขวันที่นี้คุ้นๆ  แฮ่ะ..ใช่แล้วครับ  วันแม่ของไทยเรานี่เอง หรือวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระราชินีของปวงชนชาวไทยนั่นเอง เหตุผลที่ใช้วันนี้ก็เนื่องจากพระองค์ท่านทรงตระหนักถึงปัญหาของช้าง ทั้งช้างป่าและช้างบ้านหรือช้างที่เดินตามท้องถนน และได้มีพระราชดำริให้คืนช้างสู่ป่า จนก่อเกิดมูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติขึ้น และได้ผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ ช้างที่กลับเข้าสู่ป่ามีความสุขและตกลูกให้เห็นเป็นขวัญตา  WWF จึงไม่รอช้าก่อตั้งวันช้างโลกเพื่อเชิดชูพระเกียรติแด่พระองค์ท่านในบัดดล เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม ที่ผ่านมานี่เอง และเรื่องราวที่เล่าขาน ก็คือ สถิติที่ได้จดจารไว้ในโลกอย่างน่าฉงน รอผู้คนค้นพบและลบสถิติ แต่ที่จะยังคงอยู่ก็คือพระบารมีของพระราชินีไทย ที่มีพระเมตตาต่อสัตว์โลก ให้คนทั้งโลกได้รับรู้พระเมตตาของพระองค์ท่านไปตราบนานแสนนาน  
                ฉบับนี้เนื้อที่มีจำกัด ขอลากันไปก่อน ครั้งต่อไปข้าพเจ้าจะขอเล่าเรื่องช้างต่อให้จุใจ (คนเขียน) นะคร้าบบบ....ฮ่าๆๆ

แหล่งอ้างอิง : 

1. ช้าง. http://th.wikipedia.org/wiki/ช้าง. 22 สิงหาคม 2555.
2. พระบารมีแผ่ไพศาล จากช้างไทยสู่ช้างโลก.http://www.thairath.co.th/  
          column/life/zoomzokzak/284424. 22 สิงหาคม 2555.
3. Elephant. http://en.wikipedia.org/wiki/Elephant#Asian_elephant. January 
           2010. Mammuthus sungari vs African elephant. 
           http://animalsversesanimals.yuku.com/topic/1170/Mammuthus-
           sungari-vs-African-elephant#.UDR0QKAwCxA. 

 

จากจดหมายข่าว Khorat Fossil  Museum News  ปีที่ 1 ฉบับที่ 3  ประจำเดือนตุลาคม 2555

บรรพบุรุษของเรา

 

                เรื่องของซากที่ไม่ซ้ำซากฉบับนี้ อยากชวนท่านผู้อ่านไปฟังการถกเถียงทางวิชาการที่เข้มข้นและน่าสนใจประเด็นหนึ่งของวงการบรรพชีวินวิทยา  นั่นก็คือการตามหาบรรพบุรุษของมนุษย์เรานั่นเองค่ะ 

               เมื่อกล่าวถึงต้นกำเนิดของมนุษย์ เรามักนึกถึงสมมุติฐาน เรื่องการออกจากแอฟริกา (Out of Africa) ที่ว่าบรรพบุรุษของมนุษย์ได้กำเนิดขึ้นในทวีปแอฟริกา และต่อมาได้อพยพไปยังพื้นที่อื่นๆ ของโลก แต่สมมุติฐานนี้ก็หาได้ศักดิ์สิทธิ์หรือแตะต้องมิได้แต่อย่างใด เพราะถูกท้าทายด้วยหลักฐานการค้นพบฟอสซิลใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ล่าสุดนี้ได้ถูกสั่นคลอนด้วยการค้นพบฟอสซิลของแอนโธรพอยด์ (Anthropoid) ในพม่า การค้นพบใหม่นี้กลับไปสนับสนุนสมมุติฐานเก่าแก่ที่เกือบจะถูกหลงลืมไปแล้ว เรื่องการออกจากเอเชีย (Out of Asia) ที่ว่าบรรพบุรุษของเรามีต้นกำเนิดในเอเชียก่อนที่อื่นๆ ขอทำความเข้าใจสักนิดก่อนนะคะ ว่าแอนโธรพอยด์ที่เรากำลังพูดถึงนี้ เป็นบรรพบุรุษที่ห่างไกลเราค่อนข้างมาก หาได้เป็นบรรพบุรุษใกล้ชิดกับ มนุษย์แบบ “ลูซี่” (Australopithecus afarensis) ที่มีอายุประมาณ 3.2 ล้านปีนะคะ แต่แอนโธรพอยด์โบราณเป็นสัตว์กลุ่มหนึ่งในลำดับไพรเมต ที่มีอายุเก่าแก่เกือบ 40 ล้านปีก่อน มันเป็นบรรพบุรุษร่วมของมนุษย์อย่างเรากับอุรุงอุตัง กอริลลา ชะนี และลิงมีหางอื่นๆ ค่ะ

               ฟอสซิลของแอนโธรพอยด์ยุคแรกๆ ถูกค้นพบในประเทศอียิปต์ มีอายุประมาณ 30 ล้านปีก่อน นั่นจึงเป็นที่มาของความเชื่อว่ามันกำเนิดในแอฟริกา หลังจากนั้นเริ่มมีการค้นพบซากของลิงจิ๋วที่อายุเก่าแก่กว่า (37- 45 ล้านปีก่อน) ในพื้นที่อื่นๆ โดยเฉพาะในจีน พม่าและประเทศอื่นๆ ของทวีปเอเชีย การค้นพบหลังๆ นี้ชี้ว่า เป็นไปได้ที่แอนโธรพอยด์อาจกำเนิดขึ้นในเอเชียก่อนแล้วอพยพไปแอฟริกาทีหลัง แต่ยังไงก็ยังค้างคาใจนักบรรพชีวินวิทยาอยู่ดี เพราะยังไม่มีหลักฐานฟอสซิลแน่ชัดที่จะแสดงว่าแอนโธรพอยด์เหล่านี้ละทิ้งเอเชียไปแอฟริกาเมื่อใดและอย่างไร จนในปี ค.ศ. 2005 คริสโตเฟอร์ เบียร์ด นักบรรพชีวินวิทยาจากพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาคาเนกี้ และทีมนักวิจัยนานาชาติ ได้พบฟอสซิลของปลาโบราณ เต่า และฟันของบรรพบุรุษฮิปโปจากแหล่งฟอสซิลซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำเก่าแก่ใกล้หมู่บ้านเนืองพินเล (Nyaungpinle)ในประเทศพม่า และที่สำคัญได้มีการพบฟันกรามของลิงแอนโธรพอยด์โบราณสายพันธุ์ใหม่ ฟันกรามที่พบมีขนาดประมาณเมล็ดข้าวโพดคั่ว มีอายุประมาณ38 ล้านปีก่อน น่าจะมีขนาดตัวใกล้เคียงกับกระรอก จากการทำงานภาคสนามในประเทศพม่าอย่างยากลำบากถึง 6 ปี ทีมวิจัยสามารถเก็บตัวอย่างของลิงแอนโธรพอยด์นี้ได้เพียงฟันกราม 4 ซี่ ซึ่งตอนหลังพวกเขาตั้งชื่อให้ว่า “แอเฟรเชีย ชิจิเด” (Afrasia djijidae)

               
               จากหลักฐานฟันกราม 4 ซี่นี้ ทำให้นักวิจัยเห็นว่า Afrasia มีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับแอนโธรพอยด์โบราณอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งเคยอาศัยอยู่ในเวลาใกล้เคียงกันแต่ต่างทวีป นั่นคือ “แอโฟรทาร์เซียส ลิบิคัส” (Afrotarsius libycus) จากประเทศลิเบีย ทวีปแอฟริกา ลักษณะฟันของแอนโธรพอยด์สองชนิดนี้คล้ายคลึงกันมาก ทั้งขนาด รูปร่าง และอายุ ซึ่งพิจารณาคร่าวๆ อาจจะคิดว่ามันเป็นสายพันธุ์เดียวกัน  แต่เมื่อตรวจสอบอย่างละเอียดมากขึ้น ทีมวิจัยก็สังเกตพบว่าฟันกรามของ Afrasiaจากเอเชีย มีลักษณะที่เก่าแก่กว่าฟันกรามของ Afrotarsius จากแอฟริกา   ลักษณะที่โบราณกว่าของฟัน บวกกับอายุที่เก่าแก่กว่าของ Afrasia จากเอเชีย จึงถูกใช้เป็นหลักฐานล่าสุดที่ชี้ว่ารากของแอนโธรพอยด์น่าจะอยู่ในเอเชียมากกว่าแอฟริกา


ที่มาภาพ : http://www.labgrab.com/users/jeffrey-serrill/blog/afrasia-djijidae-fossils-reveal-asian-not-african-origin-early-primates_i

 

ในยุคนั้นทวีปแอฟริกาและเอเชียแยกจากกันด้วยทะเลที่กว้างกว่าทะเลเมดิเตอร์เรเนียนในปัจจุบัน เราเรียกทะเลโบราณนี้ว่า “ทะเลเทธีส” (Tethys Sea) จึงเกิดคำถามว่าแล้วแอนโธรพอยด์ในยุคนั้นอพยพจากเอเชียไปแอฟริกาได้อย่างไร? ฌอง-ฌาคส์ เจเกอร์ หัวหน้าทีมวิจัย มีข้อสันนิษฐานต่อประเด็นนี้ว่า แอนโธรพอยด์ในยุคแรกนั้นอาจว่ายข้ามทะเลจากเกาะสู่เกาะ และออกจากเอเชียมาจนถึงแอฟริกา หรืออาจจะล่องแพไปพร้อมซุงโดยการพัดพาของธรรมชาติ นอกจากนั้นยังพบว่าสัตว์กลุ่มอื่นๆ ก็อพยพจากเอเชียไปยังแอฟริกาในช่วงเวลาใกล้เคียงกันด้วย
                 หลังจากที่แอนโธรพอยด์ในยุคแรกเดินทางสู่แอฟริกา สัตว์ชนิดเดียวกันที่ยังหลงเหลืออยู่ในทวีปเอเชียก็ล้มตายลงจนหมดสิ้น โดย ฌอง-ฌาคส์ เจเกอร์ ให้เหตุผลว่า เมื่อราวๆ 34 ล้านปีก่อนนั้น มีธารน้ำแข็งขนาดมหึมาที่ทำให้ภูมิอากาศโลกเย็นจัดและส่งผลกระทบต่อเอเชียมากกว่าแอฟริกา วิกฤตดังกล่าวได้กวาดล้างแอนโธรพอยด์ดั้งเดิมในเอเชียไปจนหมดสิ้น ส่วนแอนโธรพอยด์ที่เราพบในเอเชียปัจจุบันนี้ อย่างชะนีหรืออุรังอุตังนั้นเพิ่งอพยพมาจากแอฟริกาเมื่อประมาณ 20 ล้านปีก่อนนี้เอง 
                 ในที่สุด สมมุติฐานใดจะเป็นที่ยอมรับผ่านวันเวลา ก็ขึ้นอยู่กับความหนักแน่นของหลักฐานใหม่ๆ ที่มาสนับสนุนรวมทั้งความน่าเชื่อถือของเหตุผล ...เรามารอดูกันต่อไปนะคะ


แหล่งข้อมูล
 :
1.   Chaimanee, Y., et al. Late Middle Eocene primate from Myanmar and the initial anthropoid 
              colonization of Africa. PNAS. June 4, 2012.
2.   Jeffrey Serrill, Afrasia djijidae discovery reveals an Asian, not African, origin of early 
              primates. http://www.labgrab.com/users/jeffrey-serrill/blog/afrasia-
              djijidae-fossils-reveal-asian-not-african-origin-early-primates_i
3.   Ann Gibbons. An Asian Origin for Human Ancestor http://news.sciencemag.org/
              sciencenow/2012/06/an-asian-origin-for-human-ancest.html?        

 

จากจดหมายข่าว Khorat Fossil  Museum News  ปีที่ 2 ฉบับที่  6 ประจำเดือนมิถุนายน 2556   

 

ตัวเลขกับสัตว์โลก

               เป็นเรื่องแปลกแต่จริงสุดสำหรับมนุษย์สุดฉงนอย่างเราๆ ที่มักตื่นเต้นและชื่นชอบอะไรที่แปลกใหม่ ใหญ่ๆ เล็กๆ โดยเฉพาะไอ้เรื่องที่ได้รับการจดบันทึกเป็นสถิติโลกล่ะชอบนัก และเมื่อพูดถึงสถิติก็เลี่ยงตัวเลขไม่พ้น วันนี้ผมจึงมีสถิติตัวเลขเกี่ยวกับสัตว์โลกมานำเสนอทุกท่าน แต่ก่อนจะไปเรื่องสัตว์โลก ขอกล่าวถึงเรื่องของกีฬาสักนิดนะครับ เพราะเมื่อพูดถึงสถิติ กีฬาถือได้ว่ายึดถือเรื่องของสถิติเป็นอย่างมากเลยล่ะ เพราะสร้างความเร้าใจขณะนั่งลุ้นกีฬาชนิดโปรดได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะกีฬาระดับโลกอย่างโอลิมปิกด้วยแล้ว ก็ยิ่งเร้าใจเข้าไปใหญ่ โอลิมปิกครั้งนี้ก็เช่นกันนะครับ มีการทำลายสถิติกันเป็นว่าเล่น ไม่ว่าจะเป็นยิมนาสติก ยกน้ำหนัก ว่ายน้ำ เรือพาย ฯลฯ แต่ที่คอกีฬาทั่วโลกให้ความสนใจมากๆ เห็นจะเป็นกรีฑาที่มีคุณยูเซน โบลต์ (Usain Bolt) เจ้าของฉายา “The Lightning Bolt” หรือเจ้าสายฟ้าแลบ ลงแข่ง เพราะสถิติตอนนี้คุณโบลต์ได้รับการจดบันทึกให้เป็นมนุษย์ที่วิ่งระยะ 100 เมตรได้เร็วที่สุดในโลก คือใช้เวลาเพียง 9.63 วินาทีเท่านั้น ในการแข่งขันโอลิมปิกที่ลอนดอนเกมส์ แต่โบลต์ยังสามารถวิ่งได้เร็วกว่านั้นอีกนะครับ คือ 9.58วินาที ในการแข่งขันกรีฑาชิงแชมป์โลกที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี เมื่อปี ค.ศ. 2009  อ่า !! ลองคิดเล่นๆ นะครับว่า ถ้าคุณโบลต์ วิ่งแข่งกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเช่นเดียวกันกับมนุษย์เราอย่างเสือชีต้าล่ะ ระยะ 100 เมตร ใครกันจะเป็นผู้ชนะ ผู้เขียนลองไปค้นดูสถิติเจ้าเสือชีต้า พิจารณาข้อมูลอย่างถ้วนถี่ ก็ต้องชี้และชูขาหน้าให้กับชีต้าเขาล่ะ เพราะ 100 เมตร ชีต้าใช้เวลาเพียง 5.95 วินาทีเท่านั้น โดยสถิตินี้ตกเป็นของเสือชีต้าสาววัย 11 ปี นามว่า “ซารา” จากสวนสัตว์ซินซินนาติ (Cincinnati Zoo) สหรัฐอเมริกา และนั่นก็เป็นเพียงสถิติบางตัวอย่างที่หยิบยกมาเล่าสู่กันฟัง ตามควันหลงโอลิมปิกครับ


               สำหรับฉบับนี้ผู้เขียนยังไม่สนใจใคร่รู้เรื่องราวของความเร็วเท่าไรนัก แต่ในฐานะที่คลุกคลีอยู่กับกระดูกกระเดี้ยวสัตว์ และเคยนึกฉงนปนสงสัยว่าใครกันนะที่ใหญ่สุดในปฐพี ก็เลยอยากจะเขียนเกี่ยวกับสถิติความใหญ่โตของสัตว์โลกดูบ้าง เข้าไปค้นข้อมูลในกุ๊กกู๋ โอ๊ะ! กูเกิล พบว่า สัตว์ที่ใหญ่ที่สุดบนโลกใบกลมแป้น ณ บัดนาว เห็นจะเป็นเจ้าวาฬสีน้ำเงิน   (Blue Whale, Balaenoptera musculus) ที่ยาวราว 33.5 เมตร หนักกว่า 180 ตัน จะยิ่งใหญ่ซักเท่าไหร่กัน ก็แค่มนุษย์สุดประเสริฐที่หนักซัก 70 กิโลกรัม รวมกันจำนวน 2,667 คนเท่านั้นเอง อืม คิดดูแล้วไม่ใช่น้อยเลยใช่ไหมล่ะ..แล้วใครกันเล่าจะกล้ามาท้าชิง..หากแลตาหาในโลกปัจจุบันคงตอบได้คำเดียวว่ายาก...


 

               งั้นเราลองย้อนเวลาหาอดีตกัน เผื่อจะหาคู่ต่อกรให้เจ้าวาฬสีน้ำเงินนี้ได้บ้าง... ไทม์แมชชีนพุ่งจี๊ดกลับไปสะดุดหยุดชะงักในยุคที่สัตว์ใหญ่มหึมาอย่างเจ้าไดโนเสาร์ เดินไปมาปะปนบนพื้นทวีปจำนวนมาก  แล้วเรามาดูกันว่าใครนะจะมาเป็นคู่ต่อกรกับเจ้าวาฬสีน้ำเงินนี้ได้  และแล้วข้อมูลสถิติที่ปรากฏ พบว่า เจ้า Bruhathkayosaurus    ซึ่งเป็นไดโนเสาร์ซอโรพอด คอยาวหางยาว แห่งอินเดีย (ทมิล นาดู) ได้ครองจ้าวความใหญ่โตไปด้วยสถิติความยาวราว 40-44 เมตร หนักกว่า 200-220 ตัน นี่คือความใหญ่โตมโหฬารของยักษ์ใหญ่ในพื้นโลก ที่ยังไม่มีสถิติใดมาลบได้ แต่หากจะพิจารณาเฉพาะความยาวแล้วละก็ คงต้องยกให้เจ้า Amphicoelias ไดโนเสาร์ซอโรพอดที่ยาวตั้งแต่หัวจรดหางราว 50-62 เมตรด้วยกัน เป็นอย่างไรกันบ้างครับกับสถิติตัวเลขที่ได้จากความใหญ่ยาวของเจ้าสัตว์โลก แต่ว่ายังไม่จบแค่นี้นะครับ ฉบับหน้าเรามาว่าเรื่องตัวเลขกับสัตว์โลกกันต่อนะครับ....


แหล่งอ้างอิง 
1. ทุบสถิติโลก“ชีตาห์สาว”วิ่งร้อยเมตรแค่ 5.95 วิ. http://www.manager.co.th/ 
           science/ViewNews.aspx?NewsID=9550000095721. 4 สิงหาคม 2555.
2. โบลต์สุดยอด! ซิวเหรียญทอง100ม.ทุบสถิติอลป.http://www.dailynews.co.th/sports/147502. 
           6 สิงหาคม 2555. 
3. วาฬสีน้ำเงิน.http://th.wikipedia.org/wiki/วาฬสีน้ำเงิน. 22 สิงหาคม 2555.
4. Dinosaur size. http://en.wikipedia.org/wiki/Dinosaur_size. 
5. Earthshakers, The largest animals ever to walk the Earth. 
           http://www.gavinrymill.com/dinosaurs/largest-dinosaur-ever.html. 20th Oct 2001.
6. Largest organisms. http://en.wikipedia.org/wiki/Largest_organisms. Dec. 2011.
7. What is the longest axon? http://blog.ketyov.com/2012/05/ what-is-longest-axon.html. 
           19 May 2012.

จากจดหมายข่าว Khorat Fossil  Museum News  ปีที่ 1 ฉบับที่ 2  ประจำเดือนกันยายน 2555

 

 

   
         
   

265939
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
61
172
406
264920
1347
3137
265939

Your IP: 18.188.111.130
2024-05-16 20:38