วันพฤหัสบดี, 16 พฤษภาคม 2567
0
0

ช้างดึกดำบรรพ์ไทยกับชื่อ

 

                มาตามสัญญานะครับว่าฉบับนี้จะนำเรื่องชื่อของช้างดึกดำบรรพ์ในสวนหินราชภัฎมาฝากท่านผู้อ่าน หลังจากที่ฉบับก่อนผมได้ปูพื้นฐานเรื่องการตั้งชื่อทางวิทยาศาสตร์กันมาแล้ว ท่านที่เพิ่งจะหยิบ Khorat Fossil Museum News มาอ่านครั้งแรก ก็อาจจะติดตามข้อมูลดังกล่าวได้ในฉบับที่แล้วครับ เรามาเริ่มกันเลยดีกว่านะครับ..         
                 
               สำหรับรูปปั้นช้างภายในสวนหินของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา มีอยู่ทั้งหมด 10 ตัวด้วยกัน เรามาว่าตั้งแต่เจ้าตัวเล็กสุดเลยละกัน สำหรับเจ้านี่คนทั่วไปอาจจะมองเห็นเป็นลูกช้าง แต่ความจริงแล้ว เค้าเคยถูกขึ้นบัญชีชี้ว่าเป็นต้นตระกูลของสัตว์งวงทั้งปวง นามว่า มีริธีเรียม ตัวขนาดเท่าหมูเขื่อง ก่อนที่จะถูกเจ้าอีริธีเรียม (Eritherium) ตัวเท่ากระต่ายโค่นบัลลังกลายเป็นบรรพบุรุษของเหล่าสัตว์งวงแทน ..เจ้ามีริธีเรียม เขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า Moeritherium มาจากการผสมคำ คือ Moeris เป็นชื่อของทะเลสาบในแอ่งสะสมตะกอน Al Fayyum  ประเทศอียิปต์ กับคำว่า therion และคำต่อท้าย –ium ที่หมายถึง Wild beast หรือสัตว์ป่า ดังนั้น ชื่อสกุลของ Moeritherium คือสัตว์ป่าหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจาก Moeris นั่นเอง แต่เจ้านี่ไม่พบในบ้านเรานะครับ 

 

              ตัวต่อไป ที่ยืนจังก้ายกขาหน้าชูงวงหาว เอ่อ!! ชูงวงเด่นเป็นสง่า มี 4 งา ที่งอกจากขากรรไกรบนและล่าง เจ้านี่มีชื่อสุดเก๋ว่า กอมโฟธีเรียม เขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า Gomphotherium มาจากการผสมคำว่า Gomphos ที่แปลว่า เชื่อมต่อ (joint) กับคำว่า therion และคำต่อท้าย –ium ดังนั้น Gomphotherium จึงหมายถึง สัตว์ที่มีลักษณะบางอย่างที่เป็นรอยเชื่อมต่อ (Welded Beast) การตั้งชื่อเจ้านี่มาจากลักษณะของงาซึ่งคู่บนโค้งงอลงมาจนชิดติดกับคู่ล่าง เมื่อใช้งานจะเกิดการเสียดสีจนงาทั้งคู่บนและล่างสึกไปพร้อมๆ กัน อีกทั้งหากพิจารณาจากลักษณะฟันที่เป็นปุ่มคล้ายเต้านม (แบบกรวย) แบบปุ่มใหญ่ๆ ซึ่งถือเป็นรูปแบบฟันแบบดั้งเดิม และฟันที่มีพัฒนาการโดยการแบ่งปุ่มฟันให้มากขึ้น ซึ่งเป็นลักษณะของสัตว์งวงกลุ่มใหม่ ดังนั้นกอมโฟธีเรียมจึงถือเป็นรอยเชื่อมต่อระหว่างสัตว์งวงกลุ่มดั้งเดิม (ปุ่มฟันใหญ่มีไม่กี่ปุ่ม) และกลุ่มใหม่ (ปุ่มฟันแบ่งย่อยเล็กๆ หลายปุ่ม) ซึ่งเรียกสัตว์งวงที่มีลักษณะฟันคล้ายกอมโฟธีเรียมนี้ว่า พวกกอมโฟแธร์ (Gomphothere) 

 

              นอกจากนั้น ในช่วงประมาณ 18 ล้านปีก่อน (กลางสมัยไมโอซีน)  แผ่นเปลือกโลกแอฟริกามาชนและเชื่อมต่อกับแผ่นยูเรเชีย  ทำให้ท้องทะเลกลับกลายเป็นผืนดินเชื่อมต่อกัน  เกิดการอพยพย้ายถิ่นของสัตว์น้อยใหญ่  โดยเฉพาะกอมโฟธีเรียม จนเรียกขานสถานที่เชื่อมต่อนี้ว่า “สะพานแผ่นดินกอมโฟธีเรียม” (Gomphotherium landbridge) ดังนั้น ชื่อ กอมโฟธีเรียม ที่หมายถึงร่องรอยการเชื่อมต่อ จึงเป็นอะไรที่เหมาะสมที่สู๊ดดดด นั่นเอง..ตัวต่อไปเป็นช้างตัวใหญ่ที่ยืนจังก้า มีงาเฉพาะด้านล่างและโค้งงอลงมา เราเลยตั้งชื่อให้มันว่าช้างงาจอบ ส่วนชื่อเสียงเรียงนามเจ้าตัวนี้จริง ๆ คือ ไดโนธีเรียม(Deinotherium) มาจากการผสมคำว่า Deinos ซึ่งหลายท่านแปลว่า น่าสะพรึงกลัว (terrible) เนื่องจากการค้นพบโครงกระดูกเจ้าตัวนี้สูงใหญ่ราวท้องสะพานลอย บวกกับคำว่า therion และคำต่อท้าย –ium ดังนั้น ไดโนธีเรียม จึงหมายถึง สัตว์ป่าที่น่าสะพรึงกลัว 

               เขียนมาได้สามตัวก็ต้องลากันแล้วล่ะครับ เอาเป็นว่าฉบับหน้าฟ้าใหม่ ผมจะมาเล่าต่อตัวที่เหลือ แม้รูปปั้นจริงจะไม่เหลือ แต่ก็จะเติมส่วนที่ค้างให้เต็มกระบวนความ..เจอกันใหม่ครับผม…

 

 


รูปปั้นช้างมีริธีเรียม ช้างกอมโฟธีเรียม และช้างไดโนธีเรียม ในสวนหิน ม.ราชภัฏนครราชสีมา

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : 
1.     Harzhauser et al., 2007. Biogeographic responses to geodynamics: A key study 
             all around the Oligo–Miocene Tethyan Seaway. Zoologischer Anzeiger, 
             246: 241–256.
2.     http://en.wikipedia.org/wiki/Deinotherium
3.     http://de.wikipedia.org/wiki/Gomphotherium
4.     http://en.wikipedia.org/wiki/Moeritherium 

 

จากจดหมายข่าว Khorat Fossil  Museum News  ปีที่ 2 ฉบับที่  4 ประจำเดือนเมษายน 2556

 

 

   
         
   

265947
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
69
172
414
264920
1355
3137
265947

Your IP: 3.143.205.169
2024-05-16 23:04