วันพฤหัสบดี, 16 พฤษภาคม 2567
0
0

แรดไร้นอ พอพันธ์ไน

 

              ณ บ้านท่าช้าง ตำบลท่าช้าง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครราชสีมา เมื่อกว่า 16 ล้านปีก่อน เรื่อยมาจนถึงช่วงหนึ่งหมื่นปีก่อน เคยเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของช้างดึกดำบรรพ์หลากหลายสกุล พบว่ามีจำนวนมากถึง 9 สกุล จาก 43 สกุลที่พบทั่วโลก ประกอบด้วย ช้างงาจอบโปรไดโนธีเรียม ช้างสี่งากอมโฟธีเรียม ช้างงาเสียมโปรตานันคัส ช้างสเตโกโลโฟดอน ช้างอะนันคัส ช้างไซโกโลโฟดอน ช้างไซโนมาสโตดอน ช้างสเตโกดอน ช้างเอลิฟาส  นอกจากนี้ยังมีสัตว์ที่พบร่วมกับช้างดึกดำบรรพ์ คือ ยีราฟคอสั้น ฮิปโป หมูป่าโบราณ กวางแอนติโลป สัตว์วงศ์วัว กระจง เสือเขี้ยวดาบ จระเข้ ตะโขง เต่า และตะพาบน้ำ และสัตว์ร่วมยุคที่พบว่ามีกำเนิดจากแหล่งนี้ คือ บรรพบุรุษของอุรังอุตัง โคราชพิเธคัส พิริยะอิ (Khoratpithecus piriyai Chaimanee et al., 2004) และบรรพบุรุษหมูป่าโบราณ เมอริโคโปเตมัส ท่าช้างเอนซิส (Merycopotamus thachangensis Hanta et al., 2008) และเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เราก็ค้นพบแรดพันธุ์ใหม่ของโลกเป็นแรดไร้นอจากแหล่งท่าช้างนี้
                 
               ก่อนที่จะรู้จักแรดไร้นอแห่งบ้านท่าช้าง เราลองมาดูแรดดึกดำบรรพ์ที่พบทั่วไปก่อนนะคะ ว่ามีรูปหน้าค่าตาอย่างไรกันบ้าง ถ้าแบ่งกลุ่มแรดดึกดำบรรพ์ตามลักษณะกะโหลก   ก็จะแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่มใหญ่ คือกลุ่มแรด 2 นอ (งอกบนจมูกและหน้าผาก) กลุ่มแรด 1 นอบนจมูก  กลุ่มแรด 1 นอบนหน้าฝาก และกลุ่มแรดไร้นอ (นอกจากนี้ชนิดแรดยังแบ่งตามความสูงต่ำของกราม) แรดดึกดำบรรพ์ยุคแรกๆ จะเป็นแรดไร้นอ จากนั้นก็ค่อยมีวิวัฒนาการให้มีนอปรากฏขึ้น เพื่อใช้ข่มขู่ เป็นอาวุธประจำตัว และใช้แสดงความรักต่อกันระหว่างตัวผู้กับตัวเมีย โดยจะเอานอมาชนกันคล้ายกำลังต่อสู้กันอยู่ 


              แรดดึกดำบรรพ์ไร้นอแห่งบ้านท่าช้างนี้ พบเป็นกะโหลกที่สมบูรณ์พร้อมขากรรไกรทั้งสองข้าง ได้ทำการศึกษาวิจัยโดย  ศ.ดร. เติ้ง เถา แห่งสถาบันบรรพชีวินวิทยาสัตว์มีกระดูกสันหลัง และมานุษยวิทยาบรรพกาล (Institute of Vertebrate Paleontology and Paleoanthropology) แห่งกรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมกับนักวิจัยของสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ พบว่าเป็นแรดไร้นอสกุล อาเซราธีเรียม (Aceratherium) ที่แตกต่างจากชนิดเดเปเรติ (A. depereti) ที่พบในยุโรป และชนิดอินซิสิวัม (A. incisivum) ที่พบในแถบเอเชียใต้ โดยมีลักษณะเด่นคือ กะโหลกด้านบนแบนเรียบ ขอบท้ายกะโหลกเป็นแนวตรง ที่เด่น และมีสันกลางกะโหลกแผ่ขยายกว้าง จึงได้ตั้งชื่อให้เป็นสายพันธุ์ใหม่ของโลก คือ อาเซราธีเรียม พอพันธ์ไน (Aceratheium porpani Deng et al., 2013) โดยตั้งชื่อชนิดตามชื่อของ รศ.ดร.พอพันธ์ วัชจิตพันธ์ อดีตอาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้กรุณามอบซากแรดให้กับสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ ไว้เพื่อศึกษาวิจัยจนเป็นที่มาของการค้นพบแรดไร้นอพันธุ์ใหม่นี้

             
              ผลงานวิจัยได้รับการยอมรับและตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Vertebrate Paleontology ซึ่งเป็นวารสารของ Society of Vertebrate Paleontology อันเป็นสมาคมระดับโลกด้านบรรพชีวินวิทยาสัตว์มีกระดูกสันหลัง และมีสำนักงานตั้งอยู่ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา แรดพอพันธุ์ไน บ่งบอกว่า บริเวณตำบลท่าช้างในช่วงปลายสมัยไมโอซีน หรือเมื่อ 7.5 - 6.0 ล้านปีก่อน มีสภาพพื้นที่เป็นทุ่งหญ้าติดต่อกับป่าทึบริมแม่น้ำมูลโบราณ

 

             

 

 

ขอเชิญผู้สนใจทุกท่านชมซากแรดไร้นอพันธุ์ใหม่นี้ได้ ณ พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหินฯ ทุกวัน (ยกเว้นวันจันทร์) ตั้งแต่ เวลา 9.00 – 16.30 น.

  แหล่งข้อมูลอ้างอิง 
1. Chaimanee, Y., Suteethorn, V., Jintasakul, P., Vidthayanon, C., Marandat, B., and Jaeger, J. 
              J., 2004. A new orang-utan relative from the Late Miocene of Thailand. Nature, 427 
              (9673): 439-441.
2.  Hanta, R., Ratanasthien, B., Kunimatsu, Y., Saegusa, H., Nakaya, H., Nagaoka, S., and 
              Jintasakul, P., 2008. A new species of Bothriodontinae, Merycopotamus thachangensis 
              (Cetartiodactyla, Anthracotheriidae) from the Late Miocene of Nakhon Ratchasima, 
              Northeastern Thailand. Journal of Vertebrate Paleontology, 28(4): 1182-1188.
3.  Deng, T., Hanta, R., and Jintasakul, P., 2013. A new species of Aceratherium 
              (Rhinocerotidae, Perissodactyla) from the Late Miocene of Nakhon Ratchasima,
              Northeastern Thailand. Journal of Vertebrate Paleontology, 33(4): 977-985.
4. เว็บไซต์ http://en.wikipedia.org/wiki/Rhinoceros

นกเป็นลูกหลานของไดโนเสาร์จริงหรือ

 

            เมื่อนักวิชาการบอกว่าลูกหลานที่เหลืออยู่ของไดโนเสาร์...คือ สัตว์กลุ่มนก ซึ่งหมายถึงกลุ่มสัตว์ปีก (Aves) รวมพวกเป็ด ไก่ ห่าน นกกระจอกเทศ และนกเพนกวินด้วย บางท่านอาจจะเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง นกที่ไม่น่ากลัวเลยซักนิด จะเป็นญาติกับไดโนเสาร์ได้อย่างไร... ถ้าจะลองมองหาลักษณะของไดโนเสาร์ซึ่งยังตกค้างหลงเหลืออยู่บ้างในลูกหลานกลุ่มนก อาจจะลองดูที่ไก่ เราจะเห็นว่าบริเวณช่วงขาและเท้าของไก่ยังมีผิวหนังเป็นเกล็ดเหมือนสัตว์เลื้อยคลานและไดโนเสาร์ นักวิทยาศาสตร์ยังเคยพบไก่บางตัวมีตุ่มฟันปรากฏให้เห็น นั่นเพราะยีนฟันดั้งเดิมยุคที่ยังเป็นไดโนเสาร์ยังซ่อนอยู่ในไก่ เพียงแต่ยีนเหล่านั้นถูกกดทับไว้ด้วยกลไกวิวัฒนาการในระยะเวลาหลายสิบล้านปีที่ผ่านมา

       การศึกษาฟอสซิลมีบทบาทสำคัญในการไขข้อข้องใจนี้ ฟอสซิล จำนวนมากชี้ว่านกมี  วิวัฒนาการมาจากไดโนเสาร์กินเนื้อกลุ่มเทอโรพอด ตัวอย่างเด่นชัดก็คือ การค้นพบซากอาร์คีออปเทอริกซ์ (Archaeopteryx) ที่แคว้นบาวาเรีย ประเทศเยอรมนี เมื่อปี ค.ศ. 1861 มีอายุอยู่ในยุคจูแรสซิก ครองตำแหน่งนกตัวแรกบนโลกมาอย่างยาวนาน หรืออีกนัยหนึ่งก็คือเป็นบรรพบุรุษทางวิวัฒนาการของนกทั้งปวง สิ่งที่ทำให้เชื่อเช่นนั้น เพราะมันมีลักษณะผสมผสานของทั้งนกและไดโนเสาร์เทอโรพอด ลักษณะที่เหมือนนก เช่น มีขนปกคลุมตัว มีปีก มีกระดูกรูปสองง่ามที่หน้าอก เนื้อกระดูกกลวงเบา ขณะเดียวกันก็มีลักษณะที่เหมือนไดโนเสาร์แต่ไม่เหมือนนกปัจจุบัน เช่น มีสามเล็บยื่นออกมาจากอุ้งมือ มีฟัน และมีกระดูกหางยาว เป็นต้น หลังจากนั้นก็มีการค้นพบฟอสซิลอีกจำนวนมากที่เป็นหลักฐานยืนยันถึงความเชื่อมโยงระหว่างไดโนเสาร์กับนกแต่ หากจะให้สรุปว่านกตัวแรกคือตัวใด หรือเส้นแบ่งระหว่างไดโนเสาร์ที่คล้ายนกกับนกที่แท้จริงอยู่ที่ไหน ก็ยังเป็นข้อถกเถียงและยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน

 

 

  

            การถกเถียงล่าสุดเกิดเมื่อมีการค้นพบซากเซียวทิงเจีย เซ็งจิ (Xiaotingia zhengi)  ขนาดเท่าไก่ จากยุคจูแรสซิก ที่แคว้นเหลียวหนิง ทางตะวันตกของประเทศจีน ในปี 2011ถือเป็นการค้นพบที่สะเทือนตำแหน่งนกตัวแรกบนโลกของอาร์คีออปเทอริกซ์ ทีเดียว เพราะนักวิจัยชี้ว่า เซียวทิงเจีย เซ็งจิ มีลักษณะใกล้เคียงกับอาร์คีออปเทอริกซ์ มาก และควรจะถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มเดียวกัน นั่นคือเป็นไดโนเสาร์เทอโรพอดกลุ่มที่เรียกว่า ไดโนนิโคซอร์ (Deinonychosaurs)เพราะนอกจากลักษณะมีขนและลักษณะอื่นๆ ที่เหมือนกันมากแล้ว ทั้ง เซียวทิงเจีย เซ็งจิ และอาร์คีออปเทอริกซ์ มีโพรงขนาดใหญ่อยู่บนกะโหลกหน้าดวงตา ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของไดโนเสาร์กลุ่มไดโนนิโคซอร์  โดยที่ไม่ปรากฏลักษณะนี้ในนกกลุ่มใดๆ เลย ดังนั้น เซียวทิงเจีย เซ็งจิ จึงถูกจัดให้เป็นคนละกลุ่มกับนกปัจจุบัน คำถามที่ตามมาก็คือ... ถ้าเซียวทิงเจีย เซ็งจิ ยังไม่ถือว่าเป็นนกแล้ว อาร์คีออปเทอริกซ์ จะยังถือเป็นนกอยู่อีกหรือไม่ ...รวมทั้งจะยังครองตำแหน่งนกตัวแรกบนโลกได้อยู่อีกหรือเปล่า...   

 

 

                 แม้คำตอบว่านกตัวแรกคือตัวใด... เกิดขึ้นเมื่อไหร่... ยังคงไม่แจ่มชัดและยังรอหลักฐานใหม่ๆ มาเพิ่มเติม แต่หลักฐานที่มีก็ชัดเจนพอจะยอมรับกันแล้วว่า นกเป็นลูกหลานที่วิวัฒนาการมาจากไดโนเสาร์

 

แหล่งที่มา : 
1.     Matt McGrath, Feathers fly in first bird debate, BBC NEWS, SCIENCE & 
             ENVIRONMENT, 27 July 2011, 
2.     Lennart Kill, สร้างไดโนเสาร์ที่มีชีวิต...จากไก่ ?, นิตยสาร Science Illustrated, กรกฎาคม 2555

 

จากจดหมายข่าว Khorat Fossil  Museum News  ปีที่ 1 ฉบับที่ 1  ประจำเดือนสิงหาคม 2555

 

 

จระเข้โบราณ โคราโตซูคัส จินตสกุลไล

 

               สวัสดีค่ะแฟนคอลัมน์ซากที่ไม่ซ้ำซากทุกท่าน ท่านผู้อ่านเคยสงสัยมั้ยคะ ว่าในยุคที่ไดโนเสาร์ครองโลกนั้น สัตว์ที่อยู่ร่วมยุคกับมันเป็นสัตว์กลุ่มไหนกันบ้าง ...จระเข้ เป็นหนึ่งในนั้นค่ะ แต่มันไม่ได้สูญพันธุ์ไปพร้อมกับไดโนเสาร์เพราะดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลกเมื่อ 65 ล้านปีที่แล้ว ลูกหลานของจระเข้ยังคงมีชีวิตรอดและสืบทอดเผ่าพันธุ์มาจนถึงทุกวันนี้  โดยปัจจุบันมีสัตว์จำพวกจระเข้อาศัยอยู่บนโลกเพียง 3 วงศ์ คือ จระเข้ ตะโขง และสุดท้ายคืออัลลิเกเตอร์และเคแมนค่ะ 


 

               มารู้จักประวัติของจระเข้กันสักหน่อยนะคะ สัตว์กลุ่มจระเข้เป็นสัตว์เลื้อย คลานที่มีบรรพบุรุษร่วมกับเทอโรซอร์ ไดโนเสาร์และนก บรรพบุรุษที่ว่านั้นเป็นสัตว์กลุ่มที่เรียกว่าอาร์โคซอร์ (Archosaurs) ซึ่งกำเนิดขึ้นมาบนโลกตั้งแต่ยุคเพอร์เมียนตอนปลาย (ประมาณ 250 ล้านปีก่อน)  หลังจากนั้นได้แยกแขนงวิวัฒนาการออกเป็น 2 สาย ในยุคจูแรสซิกตอนปลาย (ประมาณ 220 ล้านปีก่อน) โดยสายหนึ่งเป็นสัตว์กลุ่มจระเข้ ส่วนอีกสายเป็นไดโนเสาร์และนกค่ะ 

                สัตว์กลุ่มจระเข้ในยุคโบราณไม่ได้มีลักษณะเหมือนปัจจุบันไปเสียทั้งหมดนะคะ มันมีขนาดและรูปร่างหลากหลายกว่าค่ะ บางชนิดก็เดินด้วย 2 ขา บางชนิดเดิน 4 ขา บางชนิดขายาวเพรียวลมจนสามารถวิ่งควบได้เลยทีเดียว บางชนิดกินพืช บางชนิดมีขนาดใหญ่จนล่าไดโนเสาร์มากินเป็นอาหารได้ 
                            
                 ความสามารถในหลายลักษณะของเผ่าพันธุ์จระเข้ยุคโบราณ ทำให้มันแพร่กระจายสายพันธุ์ครอบครองพื้นที่ได้กว้างขวางในยุคครีเทเชียสซึ่งเริ่มเมื่อราว 145 ล้านปีก่อน หลังจากนั้นมันยังสามารถเอาตัวรอดจากมหันตภัยที่ทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ไปจากโลก

                 เป็นที่น่าภาคภูมิใจนะคะ ว่าในพื้นที่โคราชของเรา ก็พบหลักฐานความรุ่งโรจน์ของจระเข้ยุคโบราณด้วย เพราะเราพบฟอสซิลกะโหลกของจระเข้ยุค ครีเทเชียสตอนปลาย (เมื่อราว 100 ล้านปีก่อน) จากพื้นที่บ้านสะพานหิน     ต.สุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา วินิจฉัยได้ว่าเป็นจระเข้น้ำจืด ขนาดเล็ก หัวแบน ลำตัวยาวไม่เกิน 1.5 เมตร จากลักษณะฟันชี้ว่าน่าจะกินสัตว์น้ำขนาดเล็กเป็นอาหาร

                จระเข้โบราณจากโคราชตัวนี้ได้รับการตั้งชื่อโดย ดร.คมศร เลาห์ประเสริฐ จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ให้ชื่อว่า โคราโตซูคัส จินตสกุลไล (Khoratosuchus jintasakuli)  โดย Khorat คือ สถานที่พบฟอสซิล และ suchus แปลว่า จระเข้ ส่วน Jintasakuli ตั้งเพื่อเป็นเกียรติแก่ ผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล ผู้พบฟอสซิลชิ้นนี้

 

 

 

      กะโหลกของ โคราโตซูคัส จินตสกุลไล

 

ภาพจำลองของ โคราโตซูคัส จินตสกุลไล
วาดภาพโดย ดร.ชวลิต วิทยานนท์

 

แหล่งข้อมูล
1. เมื่อชาละวันครองพิภพ. เนชันแนลจีโอกราฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนมีนาคม 2553. 
2. Lauprasert, K., Cuny, G., Thirakhupt, K. & Suteethorn, V. 2009. Khoratsuchus jintasakuli 
            gen. et sp. nov., an advanced neosuchian crocodyliform from the Early Cretaceous 
            (Aptian – Albian) of NE Thailand. In: Buffetaut, E., Cuny, G., Le Loeuff, J. & 
            Suteethorn, V. (eds). Late Palaeozoic and Mesozoic Ecosystems in SE Asia. 
            Geological Society, London, Special Publication, 315: 175-187.

 

กองทัพดินเผาจิ๋นซีฮ่องเต้

 

              เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมานี้ ผมมีโอกาสได้ไปสัมผัสกับแหล่งโบราณคดีที่ยิ่งใหญ่แห่งหนึ่งของโลก ตั้งอยู่ในตำบลหลินถง เมืองซีอาน มณฑลฉ่านซี สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นแหล่งโบราณคดีที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม เมื่อปี พ.ศ. 2530 แหล่งโบราณคดีนี้มีชื่อว่า สุสานฉินสื่อหวง (Qin Shihuang Mausoleum) ซึ่งเป็นสุสานของจักรพรรดิฉินที่ 1 แห่งราชวงศ์ฉินผู้สร้างกำแพงเมืองจีน หรือที่คนไทยรู้จักกันในนามของ “จิ๋นซีฮ่องเต้” สุสานแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยฉินสื่อหวง ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 38 ปี คือระหว่างปี 246-208 ก่อนคริสตกาล หรือประมาณ 2,200 กว่าปีมาแล้ว สุสานแห่งนี้มีเนื้อที่ครอบคลุมทั้งสิ้น 2,180 ตารางกิโลเมตร มีทำเลที่ตั้งอยู่อิงบริเวณเขาหลีซาน บริเวณด้านหน้าของสุสานหันไปทางแม่น้ำเว่ยเหอ โดยเฉพาะทางทิศใต้ของเขาหลีซานอุดมไปด้วยสินแร่ทองคำ ส่วนทางทิศเหนือก็อุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่หยก ดังนั้นฉินสื่อหวงจึงทรงเลือกชัยภูมิที่มีฮวงจุ้ยอันดีเลิศนี้ เพื่อเป็นสุสานสำหรับฝังพระบรมศพของพระองค์เอง โดยมีสุสานกองทัพดินเผาอยู่ห่างจากสุสานฉินสื่อหวงราว 1.5 กิโลเมตร ทั้งหมดถูกฝังอยู่ภายใต้ผืนแผ่นดินจีน พร้อมกับพระบรมศพของฉินสื่อหวง (วิกิพีเดีย)

 

  

                  ผมขอเข้าสู่ประเด็นในส่วนของสุสานกองทัพดินเผา (Qinshihuang Terra-Cotta Army) ซึ่งคำว่า terra-cotta นั้นเป็นภาษาอิตาเลียน หมายถึงดินเผา (baked earth) หรือมาจากภาษาลาตินหมายถึงเครื่องดินเผา (earthenware) สุสานกองทัพนี้ปั้นจากดินเหนียวเป็นรูปหุ่นทหารและหุ่นม้าขนาดเท่าตัวจริงแล้วเผาและจัดเรียงเป็นกองทัพซึ่งจนถึงปัจจุบันได้ขุดค้นพบไปแล้วจำนวน 8,099 ชิ้น และอยู่ระหว่างการขุดค้นเพิ่มเติมต่อไปอย่างต่อเนื่อง รูปปั้นกองทัพดินเผาเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อพิทักษ์องค์จักรพรรดิฉินสื่อหวงหลังการสวรรคตปัญหาที่นักโบราณคดีให้ความสนใจก็คือ ดินเหนียวที่ใช้ในการปั้นนี้มาจากกี่แหล่งและนำมาจากแหล่งใดบ้าง


               นักโบราณคดีจาก Chinese Academy of Science ได้นำชิ้นตัวอย่างดินเผาของกองทัพทหารและม้าไปวิเคราะห์ทางเรณูวิทยา เพื่อศึกษาองค์ประกอบของละอองเกสรของพืชในเนื้อของดินเผา โดย Ya-Qin Hu และคณะ ได้ค้นพบละอองเกสรหลายชนิดจากหุ่นดินเผาของม้า ทั้งหมดมาจากไม้ยืนต้น เช่น ละอองเกสรของสนไพน์ สลัดได หม่อน และแปะก๊วย ขณะที่ในหุ่นดินเผาของเหล่าทหารนั้นพบละอองเกสรของพืชล้มลุกจำพวกมัสตาร์ดและกะหล่ำปลี ชิงเฮาหรือโกฐจุฬาลำพา ควินหวา บีทรูท ชาร์ด และปวยเหล็ง

               Hu และคณะได้สรุปผลงานวิจัยนี้ว่า หุ่นดินเผาของม้ารวมถึงส่วนของขาที่เรียวยาวของมันที่ง่ายต่อการแตกหักจากการขนย้ายนั้นถูกสร้างขึ้นจากโรงเผาที่ไม่ไกลจากสุสานมากนัก ขณะที่หุ่นทหารนั้นปั้นจากดินเหนียวจากแหล่งที่ห่างไกลออกไป      นับได้ว่า เรณูวิทยา (palynology) เป็นศาสตร์แขนงหนึ่งที่มีความสำคัญโดดเด่นไม่เฉพาะเพื่อการศึกษาทางโบราณคดีเท่านั้นแต่รวมถึงทางด้านธรณีวิทยาด้วย ซึ่งสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ ได้บรรจุวิชาเรณูวิทยาไว้ในร่างหลักสูตรมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาบรรพชีวินวิทยาไว้ด้วย อาจพร้อมเปิดสอนได้ในปีการศึกษา 2556 นี้ จริงๆ แล้วเรณูวิทยาไม่ได้ศึกษาเฉพาะละอองเกสรเท่านั้น แต่ยังรวมถึง สปอร์ สาหร่ายเซลล์เดียว  อาร์คิตาร์ช ไดโนแฟก-เจลเลตซีสต์ ไคตินโนซัว และอนุภาคของอินทรียวัตถุอื่นๆ ซึ่งมีประโยชน์มากในการศึกษาสภาพแวดล้อมบรรพกาล ประวัติวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต และสภาพแวดล้อมของการตกสะสมตัวของตะกอนละอองเกสรของพืช จากเนื้อเศษชิ้นส่วนตัวอย่างรูปปั้นดินเผา ทำให้ทราบว่ารูปปั้นนักรบและรูปปั้นม้านั้นปั้นจากดินเหนียวจากแหล่งที่แตกต่างกัน

 

แหล่งอ้างอิง : 
                Hu Y-Q., Zhang Z-L., Bera S., Ferguson D.K., Li C-S., Shao W-B.,Wang Y-F. 
                            (2007) What can pollen grains from the Terracotta Army tell us? Journal 
                            of Archaeological Science 34(7): 1153-1157.

 

จากจดหมายข่าว Khorat Fossil  Museum News  ปีที่ 1 ฉบับที่ 5  ประจำเดือนธันวาคม 2555 

 

 

ช่องว่างแห่งสายใย

 

               ผมพยายามค้นหาคำภาษาไทยที่เป็นความหมายของคำว่า “missing link” จากหลายแหล่งแต่ก็ไม่โปรด ด้วยพยายามจะค้นหาคำที่ไม่เป็นวิชาการนัก แถมยังจะเป็นคำที่ดึงดูดโน้มน้าวให้หนุ่มสาวหันมาอ่านบทความนี้ด้วย ผมก็เลยเลือกใช้คำว่า “ช่องว่างแห่งสายใย”                   
              ชาลส์ โรเบิร์ต ดาร์วิน ผู้เขียนหนังสือเรื่อง ต้นกำเนิดสิ่งมีชีวิตโดยการคัดเลือกของธรรมชาติ (Origin of Species by Means of Natural Selection) และได้รับการตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1859 ได้พลิกโลกพลิกสวรรค์คัดค้านคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์ (Holy Bible) ที่ได้รับการเชื่อถือกันมาหลายพันปีโดยชาวยิวและต่อเนื่องมาจนถึงชาวคริสต์และชาวมุสลิมจนถึงปัจจุบัน โดยชาลส์ ดาร์วิน ได้เสนอว่าสิ่งมีชีวิตมีการวิวัฒนาการจากชนิดหนึ่งไปเป็นอีกชนิดหนึ่ง (speciation) อย่างต่อเนื่องจากเริ่มแรกจนถึงปัจจุบันโดยการคัดเลือกของธรรมชาติ แถมชาลส์ ดาร์วิน ยังเสนอด้วยซ้ำไปว่า “มนุษย์มีวิวัฒนาการมาจากลิง” ฟังแล้วขนหัวลุกครับ

 

               ในการจะสนับสนุนทฤษฎีวิวัฒนาการของชาลส์ ดาร์วิน นั้น จำเป็นจะต้องเรียงลำดับสายวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ให้ได้ ซึ่งในยุคสมัยของชาลส์ ดาร์วินนั้นได้มีการกล่าวขานกันอย่างกว้างขวางว่าไดโนเสาร์ได้วิวัฒนาการไปเป็นนกแต่ก็มีผู้คัดค้านอย่างกว้างขวางเช่นกัน สองปีถัดมาได้มีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์ประหลาดที่สมบูรณ์ชิ้นหนึ่งที่เหมืองหินแห่งหนึ่งในเยอรมนีซึ่งมีลักษณะที่ก้ำกึ่งระหว่างไดโนเสาร์กับนกพอดี จนมีการกล่าวหากันว่าเป็นการสร้างหลักฐานเท็จเพื่อสนับสนุนทฤษฎีวิวัฒนาการของชาลส์ ดาร์วิน โดยพยายามสร้างหลักฐานเพื่อเติมเต็มช่องว่างแห่งสายใย    อย่างไรก็ตามซากดึกดำบรรพ์ชิ้นนี้ ก็ได้รับการตั้งชื่อว่าอาร์คีออฟเทอริกซ์ (Archaeopteryx lithographica) จนถึงปัจจุบันทฤษฎีวิวัฒนาการถูกยอมรับกันอย่างกว้างขวางและถูกบรรจุไว้ในบทเรียนทางชีววิทยาระดับต่างๆ

 

 

 

 

 

               แต่สิ่งหนึ่งที่นักวิทยาศาสตร์ได้พยายามค้นหาช่องว่างแห่งสายใยกันอย่างเอาเป็นเอาตายก็คือ ช่องว่างสายใยระหว่างอนินทรียสารกับอินทรียสารกันมาช้านาน เพื่อที่จะอุดช่องว่างระหว่างสิ่งไม่มีชีวิตกับสิ่งมีชีวิตให้ได้

               จนถึงปัจจุบันมหาวิทยาลัยอีโมรี ในสหรัฐอเมริกา  ได้มีการค้นพบว่าโมเลกุลอย่างง่ายของสารเปปไตด์สามารถพัฒนาก่อให้เกิดแผ่นเนื้อเยื่อคู่ขึ้นได้ โดยนักวิทยาศาสตร์สามารถแสดงให้เห็นกระบวนการดังกล่าวได้อย่างสมเวลาจริง (real time) ด้วย และแผ่นเนื้อเยื่อคู่จากสารเปปไทด์ดังกล่าวอาจพัฒนาไปเป็นสารเชิงซ้อนมากขึ้นก็ได้อย่างเช่น โปรตีน งานวิจัยดังกล่าวถือว่าเป็นการวิจัยวิวัฒนาการทางเคมี (chemical evolution) ที่อาจถือได้ว่าเป็นการอุดช่องว่างสายใยแห่งวิวัฒนาการจากสิ่งไม่มีชีวิตไปเป็นสิ่งมีชีวิตก็ได้ถึงจุดนี้ ผมมีคำถามส่วนตัวครับว่า แล้วการวิวัฒนาการจากสิ่งไม่มีชีวิตไปเป็นสิ่งมีชีวิตนั้น ตลอด 4.5 พันล้านปีที่ผ่านมานั้นมันเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวหรือ มันจะเกิดขึ้นเป็นสิบ เป็นร้อย เป็นพัน หรือมากครั้งกว่านี้ไม่ได้หรือ นี่อาจถือเป็นช่องว่างแห่งสายใยอันใหม่ก็ได้ครับ

 

แหล่งข้อมูล
            
1.   http://www.dailygalaxy.com/my_weblog/2010/05/scientist-discover-
                 missing-link- between-organic-and-inorganic-life.html 
            2.  http://www.mhhe.com/biosci/esp/2001_saladin/folder_structure/le/m1/s3/  

 

   
         
   

265944
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
66
172
411
264920
1352
3137
265944

Your IP: 3.135.186.154
2024-05-16 22:31