วันเสาร์, 20 เมษายน 2567
0
0

จระเข้โบราณ โคราโตซูคัส จินตสกุลไล

 

               สวัสดีค่ะแฟนคอลัมน์ซากที่ไม่ซ้ำซากทุกท่าน ท่านผู้อ่านเคยสงสัยมั้ยคะ ว่าในยุคที่ไดโนเสาร์ครองโลกนั้น สัตว์ที่อยู่ร่วมยุคกับมันเป็นสัตว์กลุ่มไหนกันบ้าง ...จระเข้ เป็นหนึ่งในนั้นค่ะ แต่มันไม่ได้สูญพันธุ์ไปพร้อมกับไดโนเสาร์เพราะดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลกเมื่อ 65 ล้านปีที่แล้ว ลูกหลานของจระเข้ยังคงมีชีวิตรอดและสืบทอดเผ่าพันธุ์มาจนถึงทุกวันนี้  โดยปัจจุบันมีสัตว์จำพวกจระเข้อาศัยอยู่บนโลกเพียง 3 วงศ์ คือ จระเข้ ตะโขง และสุดท้ายคืออัลลิเกเตอร์และเคแมนค่ะ 


 

               มารู้จักประวัติของจระเข้กันสักหน่อยนะคะ สัตว์กลุ่มจระเข้เป็นสัตว์เลื้อย คลานที่มีบรรพบุรุษร่วมกับเทอโรซอร์ ไดโนเสาร์และนก บรรพบุรุษที่ว่านั้นเป็นสัตว์กลุ่มที่เรียกว่าอาร์โคซอร์ (Archosaurs) ซึ่งกำเนิดขึ้นมาบนโลกตั้งแต่ยุคเพอร์เมียนตอนปลาย (ประมาณ 250 ล้านปีก่อน)  หลังจากนั้นได้แยกแขนงวิวัฒนาการออกเป็น 2 สาย ในยุคจูแรสซิกตอนปลาย (ประมาณ 220 ล้านปีก่อน) โดยสายหนึ่งเป็นสัตว์กลุ่มจระเข้ ส่วนอีกสายเป็นไดโนเสาร์และนกค่ะ 

                สัตว์กลุ่มจระเข้ในยุคโบราณไม่ได้มีลักษณะเหมือนปัจจุบันไปเสียทั้งหมดนะคะ มันมีขนาดและรูปร่างหลากหลายกว่าค่ะ บางชนิดก็เดินด้วย 2 ขา บางชนิดเดิน 4 ขา บางชนิดขายาวเพรียวลมจนสามารถวิ่งควบได้เลยทีเดียว บางชนิดกินพืช บางชนิดมีขนาดใหญ่จนล่าไดโนเสาร์มากินเป็นอาหารได้ 
                            
                 ความสามารถในหลายลักษณะของเผ่าพันธุ์จระเข้ยุคโบราณ ทำให้มันแพร่กระจายสายพันธุ์ครอบครองพื้นที่ได้กว้างขวางในยุคครีเทเชียสซึ่งเริ่มเมื่อราว 145 ล้านปีก่อน หลังจากนั้นมันยังสามารถเอาตัวรอดจากมหันตภัยที่ทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ไปจากโลก

                 เป็นที่น่าภาคภูมิใจนะคะ ว่าในพื้นที่โคราชของเรา ก็พบหลักฐานความรุ่งโรจน์ของจระเข้ยุคโบราณด้วย เพราะเราพบฟอสซิลกะโหลกของจระเข้ยุค ครีเทเชียสตอนปลาย (เมื่อราว 100 ล้านปีก่อน) จากพื้นที่บ้านสะพานหิน     ต.สุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา วินิจฉัยได้ว่าเป็นจระเข้น้ำจืด ขนาดเล็ก หัวแบน ลำตัวยาวไม่เกิน 1.5 เมตร จากลักษณะฟันชี้ว่าน่าจะกินสัตว์น้ำขนาดเล็กเป็นอาหาร

                จระเข้โบราณจากโคราชตัวนี้ได้รับการตั้งชื่อโดย ดร.คมศร เลาห์ประเสริฐ จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ให้ชื่อว่า โคราโตซูคัส จินตสกุลไล (Khoratosuchus jintasakuli)  โดย Khorat คือ สถานที่พบฟอสซิล และ suchus แปลว่า จระเข้ ส่วน Jintasakuli ตั้งเพื่อเป็นเกียรติแก่ ผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล ผู้พบฟอสซิลชิ้นนี้

 

 

 

      กะโหลกของ โคราโตซูคัส จินตสกุลไล

 

ภาพจำลองของ โคราโตซูคัส จินตสกุลไล
วาดภาพโดย ดร.ชวลิต วิทยานนท์

 

แหล่งข้อมูล
1. เมื่อชาละวันครองพิภพ. เนชันแนลจีโอกราฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนมีนาคม 2553. 
2. Lauprasert, K., Cuny, G., Thirakhupt, K. & Suteethorn, V. 2009. Khoratsuchus jintasakuli 
            gen. et sp. nov., an advanced neosuchian crocodyliform from the Early Cretaceous 
            (Aptian – Albian) of NE Thailand. In: Buffetaut, E., Cuny, G., Le Loeuff, J. & 
            Suteethorn, V. (eds). Late Palaeozoic and Mesozoic Ecosystems in SE Asia. 
            Geological Society, London, Special Publication, 315: 175-187.

 

 

   
         
   

263113
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
144
104
671
261949
1658
3578
263113

Your IP: 3.135.202.224
2024-04-20 22:33