แบบจำลอง 3 มิติฟอสซิล

 

              ในโลกแห่งความจริง (Real world) ทั้งโลกในอดีต โลกปัจจุบัน และโลกในอนาคตที่ไม่รู้จะเปลี่ยนแปลงไปเช่นไรยังมิอาจรู้ได้ มนุษย์ในปัจจุบันยังคงทำได้เพียงการสำรวจ การตรวจวัด และเก็บข้อมูล สรรพสิ่งต่างๆ บนโลกทั้งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป แล้วในอดีต และที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบัน และก็มีความพยายามที่จะนำข้อมูลต่างๆ เหล่านั้นมาวิเคราะห์ ประมวลผล และสร้างแบบจำลองเพื่อจะคาดการณ์อนาคต ซึ่งความถูกต้องนั้นก็ยังจำกัดอยู่ภายใต้กรอบความรู้ที่มี และข้อมูลที่มี สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ให้ความสำคัญอย่างมาก คือ ข้อมูล ซึ่งการเก็บข้อมูลสรรพสิ่งต่างๆ บนโลกก็มีมาตรวัดกันอยู่ทั้งเชิงปริมาณ และเชิงคุณภาพ แต่จะวัดอย่างไรให้มีความถูกต้องตรงตามความเป็นจริงทั้งหมดนั้นเป็นสิ่งกระทำได้ยาก เช่น หากเราจะตรวจวัดรูปร่างของมนุษย์ การวัดที่เราคุ้นเคย ได้แก่ ส่วนสูง รอบเอว น้ำหนัก เป็นต้น ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ก็สามารถใช้อธิบายรูปร่างของมนุษย์แต่ละคนได้ และสามารถใช้ประโยชน์ได้ในระดับที่ต้องการ ซึ่งในงานแต่ละด้านก็มีความจำเป็นต้องใช้ข้อมูลที่มีความละเอียดแตกต่างกันไป ซึ่งเทคโนโลยีการสำรวจ การตรวจวัด ในเกือบๆ จะทุกศาสตร์มีแนวโน้มที่มุ่งเน้นการตรวจวัดที่มีความถูกต้องแม่นยำสูง ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์คลี่คลายปริศนาต่างๆ ที่ยังไม่สามารถอธิบายได้ด้วยข้อมูลหยาบๆ ในอดีต ซึ่งในศาสตร์ด้านการรับรู้จากระยะไกล (remote sensing) เป็นศาสตร์และศิลปะในการได้มาซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับวัตถุ พื้นที่ และปรากฏการณ์ จากเครื่องรับรู้ (sensor) โดยปราศจากการเข้าไปสัมผัสวัตถุเป้าหมาย ทั้งนี้อาศัยพลังงานของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (electromagnetic energy) เป็นสื่อในการได้มาซึ่งข้อมูล ซึ่งมีคุณสมบัติ 3 ประการ คือ ลักษณะการสะท้อนช่วงคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ลักษณะเชิงพื้นที่ของวัตถุบนผิวโลก และลักษณะการเปลี่ยนแปลงของวัตถุตามช่วงเวลา ซึ่งก็มีการประยุกต์ที่เกี่ยวข้องกับงานด้านซากดึกดำบรรพ์ เช่น การสำรวจภูมิประเทศแหล่งขุดค้นด้วย LIDAR (Light Detection and Ranging) การสำรวจรังวัดด้วยภาพ (Photogrammetric) รวมไปถึงการใช้เครื่องมือในการสแกนซากดึกดำบรรพ์เพื่อสร้างเป็นแบบจำลอง 3 มิติ (3D Laser Scan) ซึ่งเมื่อจัดเก็บข้อมูลเหล่านี้อย่างเป็นระบบในคอมพิวเตอร์แล้ว สามารถนำมาวิเคราะห์ประมวลและสร้างการจำลองแบบ (Simulation) วัตถุ หรือปรากฎการณ์ที่สนใจได้

 

ตัวอย่าง LIDAR ที่ใช้ในการสำรวจแหล่งฟอสซิล Joggins Fossil Cliffs UNESCO World Heritage Site
ที่มา : http://jogginsfossilcliffs.blogspot.com/2011/05/lidar-at-joggins-fossil-cliffs-unesco.html

 

จากจดหมายข่าว Khorat Fossil  Museum News  ปีที่ 1 ฉบับที่ 4  ประจำเดือนพฤศจิกายน 2555