ชื่อนั้นสำคัญไฉน

 

               อันที่จริงฉบับนี้ผมตั้งใจจะเขียนเรื่องของช้างฝากท่านผู้อ่าน แต่พออยู่ในขั้นตอนการสืบค้นข้อมูลก็ปวดหัวไม่น้อย อ่านข้อมูลของช้างตัวนั้นตัวนี้หลายตัวเข้าก็ชักงงแฮะ! เลยคิดว่า ขนาดเราอยู่กับซากมานานก็ยังงง แล้วคนที่เรียนคนละสายก็คงจะปวดหัวกับการจำชื่อศัพท์แสงต่างๆ เกี่ยวกับซากไม่น้อย ว่าแล้วก็เลยคิดได้ หากรู้ความหมายของคำ ก็อาจจะช่วยให้จดจำได้ง่ายขึ้นไม่มากก็น้อย แต่ก่อนที่จะไปว่าถึงเรื่องชื่อของช้างดึกดำบรรพ์ ผมจะขอแนะนำหลักการตั้งชื่อสิ่งมีชีวิตทางวิทยาศาสตร์กันก่อน ถือเป็นการปูพื้นฐานนะครับ อ่า!!สำหรับท่านที่เรียนมาทางสายวิทยาศาสตร์ก็คงจะเข้าใจเป็นอย่างดี แต่ท่านที่ไม่ได้เรียนมาทางสายนี้ก็อาจจะไม่เข้าใจ ดังนั้น ผมจะขอเล่าให้ฟังอย่างคร่าวๆ ละกันครับ 
                การตั้งชื่อสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ทางวิทยาศาสตร์นั้น จริงๆ เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี ค.ศ 1623 โดยพี่น้องชาวสวิส นามว่า กาสปาร์ โบแอง (Gaspard Bauhin) และชอง โบแอง (Jean Bauhin) ซึ่งกำหนดให้ชื่อวิทยาศาสตร์ของสิ่งมีชีวิตประกอบด้วย 2 ส่วน โดยส่วนแรก คือชื่อของ "จีนัส  (Genus หรือ Generic name หรือชื่อสกุลนั่นเอง)"    และส่วนที่สองคือชื่อ  "ระบุสปีชีส์ (Specific name)" และเรียกการตั้งชื่อที่ประกอบด้วยชื่อ 2 ส่วนนี้ว่า "การตั้งชื่อแบบทวินาม (binomial nomenclature) แต่การตั้งชื่อวิทยาศาสตร์กลับเริ่มใช้กันอย่างแพร่หลายหลังจากที่ คาร์ล ลินเนียส นักวิทยาศาสตร์ชาวสวีเดน ได้พิมพ์ผลงานเรื่อง Species Plantarum ในปี ค.ศ.1753 และ Systema Naturae ในปี ค.ศ. 1758 เผยแพร่ (หลังพี่น้องตระกูลโบแองตั้ง 130 ปี) และเป็นที่ยอมรับกันมากในหมู่นักวิทยาศาสตร์ทั่วไป 


               โดยการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์มีกฎเกณฑ์การตั้งคือ 1) ชื่อพืชและสัตว์ต้องแยกกันอย่างชัดเจน 2) มีชื่อที่ถูกต้องเพียงชื่อเดียวเท่านั้น 3) เป็นภาษาละติน เนื่องจากเป็นภาษาที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงของคำ 4) การเขียนชื่อวิทยาศาสตร์ ต้องแตกต่างจากคำอื่น คือ เขียนเป็นตัวเอน, ตัวหนา, ขีดเส้นใต้ เช่น Homo sapiens (ชื่อของคนเรานี่เองครับ) 5) จะใช้ชื่อ Genus หรือ species ซ้ำกันไม่ได้ 6) ประกอบด้วยคำ 2 คำเสมอ คือ ในส่วนคำแรกเป็น ชื่อสกุล (Genus) จะเขียนตัวอักษรแรกเป็นตัวพิมพ์ใหญ่ ในส่วนคำหลังเป็นชื่อระบุสปีชีส์ (Species) เป็นตัวพิมพ์เล็กหมด เป็นคำเดียวหรือคำผสม 7) ชื่อผู้ตั้ง นำด้วยตัวใหญ่ ไว้ด้านหลัง เช่น Carirosquilla thailandensis Naiyanetr, 1992 ในที่นี้ Carirosquilla thailandensis คือ Species ของสิ่งมีชีวิต โดย Carirosquilla คือ ส่วนของ Genus และ thailandensis คือ ส่วนของ specific ส่วน Naiyanetr คือชื่อผู้ตั้ง และ 1992 คือปีที่ตั้ง
              หลักการตั้งชื่อ คือ ตั้งตามสถานที่พบ เช่น ชื่อช้าง Stegodon orientalis (oriental = ภูมิภาคเอเชีย) ตั้งเป็นเกียรติให้บุคคลที่นับถือ เช่น ชื่อปูราชินี Thaiphusa sirikit  ตั้งเป็นเกียรติให้คนที่พบหรือตั้งตามขนาดตัวอย่าง เช่น ชื่อปลาบึก Pangasianodon gigas (gigas แปลว่า ใหญ่) และตั้งตามลักษณะ เช่น ชื่อปู Podophthalmus vigil (vigil แปลว่า ยาม, เฝ้ายาม) เพราะเป็นปูที่มีลักษณะตาเปิดออกเหมือนเฝ้ายามอยู่ตลอดเวลา

 
                การตั้งชื่อทางวิทยาศาสตร์ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกเยอะนะครับ โดยเฉพาะการใช้คำต่อท้าย เช่น ถ้าเป็นการตั้งชื่อสัตว์ระดับวงศ์ (Family) ให้ใช้คำต่อท้ายด้วย –idae ออกเสียงว่า “อิดี”  ชื่อสกุลต่อท้ายด้วย  “-ius”  “-us” “-um” “-ia” “-ium” หรือ “-a”  เป็นต้น  การตั้งชื่อชนิดใช้คำต่อท้ายด้วย  "-ides" และ "-oides" การตั้งชื่อเป็นเกียรติบุคคล ถ้าเป็นผู้ชายคนเดียวต่อท้ายด้วย "i" ออกเสียงว่า “ไอ” ผู้ชายหลายคนหรือชื่อสกุลที่หมายรวมถึงผู้ชายและผู้หญิงลงท้ายด้วย "-orum" ผู้หญิงคนเดียวลงท้ายด้วย "-ae" ออกเสียงว่า “อี” ถ้าจะทำให้ชื่อที่ตั้งเพื่อเป็นเกียรติเป็นคำคุณศัพท์เพศชาย ให้ต่อท้ายด้วย  "-ianus"  เพศหญิงให้ต่อท้ายด้วย  "-iana"    และถ้าไม่มีเพศให้ต่อท้ายด้วย  "-ianum"  เป็นต้น
                เขียนมาถึงตรงนี้ เนื้อที่ก็หมดซะแล้ว ฉบับหน้ามาว่ากันต่อเรื่องชื่อของช้างในสวนหินมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมานะครับผม....บ๊ายบาย....

 

จากจดหมายข่าว Khorat Fossil  Museum News  ปีที่ 2 ฉบับที่  3 ประจำเดือนมีนาคม 2556