ราชสีมาซอรัส สุรนารีเอ

 

               เมื่ออ่านจากชื่อแล้วคงจะเดาได้ไม่ยากว่าอิกัวโนดอนต์พันธุ์ไทยตัวแรกนั้นถูกค้นพบที่ใด (ลองเดากันดูสิคะ) ...ถูกต้องค่ะ!!... ไดโนเสาร์ตัวนี้พบที่จังหวัดนครราชสีมา มีชื่อเรียกสั้นๆ ว่า อิกัวโนดอนต์โคราช    ส่วนชื่อวิทยาศาสตร์คือ  ราชสีมาซอรัส สุรนารีเอ (ชื่อตัวแรกเป็นชื่อสกุล ส่วนชื่อที่สองเป็นชื่อชนิด) แปลว่า กิ้งก่าแห่งเมืองนครราชสีมา  โดยชื่อชนิดถูกตั้งขึ้นเพื่อถวายเป็นเกียรติแด่ ท่านท้าวสุรนารี หรือ คุณย่าโม นั่นเอง  ส่วนคำว่า อิกัวโนดอนต์ หมายถึง กลุ่มไดโนเสาร์สกุลอิกัวโนดอนและสกุลอื่นๆ ที่คล้ายสกุลอิกัวโนดอน เช่น อูราโนซอรัส, โปรแบคโตรซอรัส, ราชสีมาซอรัส ฯลฯ

               ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับเจ้าอิกัวโนดอนต์กันก่อนนะคะ ว่าเขาถือกำเนิดขึ้นเมื่อใด และในโลกนี้พบได้ที่ไหนบ้าง  ซากอิกัวโนดอนต์ถูกค้นพบโดยบังเอิญในปี ค.ศ. 1822 เมื่อนักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษ ชื่อ กีเดียน แมนเทล (Gideon Mantell) เดินไปสะดุดเข้ากับซากฟันสัตว์เลื้อยคลานกินพืช ขณะเดินเล่นริมชายหาด ณ เมืองซัซเซก (Sussex) เดิมทีเข้าใจผิดคิดว่าเป็นฟันของจระเข้ยักษ์ ต่อมาในปี ค.ศ. 1825 กีเดียน แมนเทล ก็ได้ตั้งชื่อให้ว่า อิกัวโนดอน (Iguanodon) ที่แปลว่า มีฟันคล้ายอิกัวน่า

               อิกัวโนดอน ถือเป็นไดโนเสาร์ 1 ใน 3 สกุลแรกที่ถูกตั้งชื่อและจัดแสดงต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรกร่วมกับ Megalosaurus  และ Hylaeosaurus หรือกล่าวได้ว่าเป็นไดโนเสาร์กินพืชชนิดแรกที่ถูกตั้งชื่อขึ้น และมีการฉลองความสำเร็จแห่งการค้นพบ  โดยจัดงานเลี้ยงภายในหุ่นจำลองอิกัวโนดอนต์ตัวแรกของโลก   ปัจจุบันซากฟันอิกัวโนดอนนี้ได้จัดแสดงอยู่ ณ พระราชวัง Crystal Palace ประเทศอังกฤษ

 


ภาพจาก http://illustratorpod.co.uk/?portfolio=iguanodon-dinner-2

                อิกัวโนดอนต์ เป็นไดโนเสาร์กลุ่มออนิโธพอด หรือเป็นไดโนเสาร์ที่มีสะโพกแบบนก กินพืชพวกเฟิร์นและหญ้าหางม้าเป็นอาหาร ขาหน้าสั้นกว่าขาหลัง มักเดินสองเท้าหรือเดินสี่เท้าเป็นครั้งคราว  นิ้วมือและเท้ามี 5 นิ้ว สามารถงุ้มงอนิ้วเพื่อจับกิ่งไม้ได้ และมีนิ้วโป้งขนาดใหญ่ที่สันนิษฐานว่าอาจจะมีไว้เพื่อเป็นอาวุธป้องกันตัว มีปลายปากคล้ายเป็ด และคาดว่าน่าจะมีลิ้นยาวตวัดอาหารเข้าปาก มีน้ำหนักอยู่ราว 3.5 ตัน และมีความยาวลำตัวจากหัวถึงปลายหางราว 10 เมตร ชอบอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูง เคยมีชีวิตอยู่ในช่วงยุคจูแรสซิกตอนกลางถึงยุคครีเทเชียสตอนปลาย ในบริเวณป่า (woodland) ของทวีปแอฟริกา อเมริกาเหนือ ยุโรป เอเชีย และออสเตรเลีย

               สำหรับอิกัวโนดอนต์โคราชหรือ ราชสีมาซอรัส จัดอยู่ในกลุ่มอิกัวโนดอนต์ ที่มีรูปร่างขากรรไกรคล้ายกับ Iguanodon bernissartensis ซึ่งพบที่เบลเยียม และ Ouranosaurus nigeriensis ซึ่งพบที่ไนเจอร์ โดยมีขากรรไกรเป็นแนวตรง ร่องฟันโค้งตามรูปฟัน และโคนขากรรไกรชี้ไปด้านหลัง ลักษณะที่โดดเด่นก็คือ ขากรรไกรเรียวยาวมีความยาวมากกว่าความสูงถึง 6 เท่า ซึ่งในสายพันธุ์อื่นๆ อยู่ที่ 3-5 เท่า   ดังนั้น ราชสีมาซอรัส  จึงเป็นอิกัวโนดอนต์สายพันธุ์ใหม่ของโลกและเป็นสายพันธุ์แรกของเมืองไทย

 

แหล่งข้อมูล :
1.  Shibata, M., Jintasakul, P., and Yoichi, A., 2011.  A new iguanodontian dinosaur from 

            the Lower Cretaceous Khok Kruat Formation, Nakhon Ratchasima in 
            Northeastern Thailand. Acta Geologica Sinica, 85 (5): 969-976. 
2.  http://www.britannica.com/EBchecked/topic/282449/Iguanodon     
3.  http://en.wikipedia.org/wiki/Iguanodon

 

จากจดหมายข่าว Khorat Fossil  Museum News  ปีที่ 2 ฉบับที่ 1  ประจำเดือนมกราคม 2556