แรดไร้นอ พอพันธ์ไน

 

              ณ บ้านท่าช้าง ตำบลท่าช้าง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครราชสีมา เมื่อกว่า 16 ล้านปีก่อน เรื่อยมาจนถึงช่วงหนึ่งหมื่นปีก่อน เคยเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของช้างดึกดำบรรพ์หลากหลายสกุล พบว่ามีจำนวนมากถึง 9 สกุล จาก 43 สกุลที่พบทั่วโลก ประกอบด้วย ช้างงาจอบโปรไดโนธีเรียม ช้างสี่งากอมโฟธีเรียม ช้างงาเสียมโปรตานันคัส ช้างสเตโกโลโฟดอน ช้างอะนันคัส ช้างไซโกโลโฟดอน ช้างไซโนมาสโตดอน ช้างสเตโกดอน ช้างเอลิฟาส  นอกจากนี้ยังมีสัตว์ที่พบร่วมกับช้างดึกดำบรรพ์ คือ ยีราฟคอสั้น ฮิปโป หมูป่าโบราณ กวางแอนติโลป สัตว์วงศ์วัว กระจง เสือเขี้ยวดาบ จระเข้ ตะโขง เต่า และตะพาบน้ำ และสัตว์ร่วมยุคที่พบว่ามีกำเนิดจากแหล่งนี้ คือ บรรพบุรุษของอุรังอุตัง โคราชพิเธคัส พิริยะอิ (Khoratpithecus piriyai Chaimanee et al., 2004) และบรรพบุรุษหมูป่าโบราณ เมอริโคโปเตมัส ท่าช้างเอนซิส (Merycopotamus thachangensis Hanta et al., 2008) และเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เราก็ค้นพบแรดพันธุ์ใหม่ของโลกเป็นแรดไร้นอจากแหล่งท่าช้างนี้
                 
               ก่อนที่จะรู้จักแรดไร้นอแห่งบ้านท่าช้าง เราลองมาดูแรดดึกดำบรรพ์ที่พบทั่วไปก่อนนะคะ ว่ามีรูปหน้าค่าตาอย่างไรกันบ้าง ถ้าแบ่งกลุ่มแรดดึกดำบรรพ์ตามลักษณะกะโหลก   ก็จะแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่มใหญ่ คือกลุ่มแรด 2 นอ (งอกบนจมูกและหน้าผาก) กลุ่มแรด 1 นอบนจมูก  กลุ่มแรด 1 นอบนหน้าฝาก และกลุ่มแรดไร้นอ (นอกจากนี้ชนิดแรดยังแบ่งตามความสูงต่ำของกราม) แรดดึกดำบรรพ์ยุคแรกๆ จะเป็นแรดไร้นอ จากนั้นก็ค่อยมีวิวัฒนาการให้มีนอปรากฏขึ้น เพื่อใช้ข่มขู่ เป็นอาวุธประจำตัว และใช้แสดงความรักต่อกันระหว่างตัวผู้กับตัวเมีย โดยจะเอานอมาชนกันคล้ายกำลังต่อสู้กันอยู่ 


              แรดดึกดำบรรพ์ไร้นอแห่งบ้านท่าช้างนี้ พบเป็นกะโหลกที่สมบูรณ์พร้อมขากรรไกรทั้งสองข้าง ได้ทำการศึกษาวิจัยโดย  ศ.ดร. เติ้ง เถา แห่งสถาบันบรรพชีวินวิทยาสัตว์มีกระดูกสันหลัง และมานุษยวิทยาบรรพกาล (Institute of Vertebrate Paleontology and Paleoanthropology) แห่งกรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมกับนักวิจัยของสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ พบว่าเป็นแรดไร้นอสกุล อาเซราธีเรียม (Aceratherium) ที่แตกต่างจากชนิดเดเปเรติ (A. depereti) ที่พบในยุโรป และชนิดอินซิสิวัม (A. incisivum) ที่พบในแถบเอเชียใต้ โดยมีลักษณะเด่นคือ กะโหลกด้านบนแบนเรียบ ขอบท้ายกะโหลกเป็นแนวตรง ที่เด่น และมีสันกลางกะโหลกแผ่ขยายกว้าง จึงได้ตั้งชื่อให้เป็นสายพันธุ์ใหม่ของโลก คือ อาเซราธีเรียม พอพันธ์ไน (Aceratheium porpani Deng et al., 2013) โดยตั้งชื่อชนิดตามชื่อของ รศ.ดร.พอพันธ์ วัชจิตพันธ์ อดีตอาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้กรุณามอบซากแรดให้กับสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ ไว้เพื่อศึกษาวิจัยจนเป็นที่มาของการค้นพบแรดไร้นอพันธุ์ใหม่นี้

             
              ผลงานวิจัยได้รับการยอมรับและตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Vertebrate Paleontology ซึ่งเป็นวารสารของ Society of Vertebrate Paleontology อันเป็นสมาคมระดับโลกด้านบรรพชีวินวิทยาสัตว์มีกระดูกสันหลัง และมีสำนักงานตั้งอยู่ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา แรดพอพันธุ์ไน บ่งบอกว่า บริเวณตำบลท่าช้างในช่วงปลายสมัยไมโอซีน หรือเมื่อ 7.5 - 6.0 ล้านปีก่อน มีสภาพพื้นที่เป็นทุ่งหญ้าติดต่อกับป่าทึบริมแม่น้ำมูลโบราณ

 

             

 

 

ขอเชิญผู้สนใจทุกท่านชมซากแรดไร้นอพันธุ์ใหม่นี้ได้ ณ พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหินฯ ทุกวัน (ยกเว้นวันจันทร์) ตั้งแต่ เวลา 9.00 – 16.30 น.

  แหล่งข้อมูลอ้างอิง 
1. Chaimanee, Y., Suteethorn, V., Jintasakul, P., Vidthayanon, C., Marandat, B., and Jaeger, J. 
              J., 2004. A new orang-utan relative from the Late Miocene of Thailand. Nature, 427 
              (9673): 439-441.
2.  Hanta, R., Ratanasthien, B., Kunimatsu, Y., Saegusa, H., Nakaya, H., Nagaoka, S., and 
              Jintasakul, P., 2008. A new species of Bothriodontinae, Merycopotamus thachangensis 
              (Cetartiodactyla, Anthracotheriidae) from the Late Miocene of Nakhon Ratchasima, 
              Northeastern Thailand. Journal of Vertebrate Paleontology, 28(4): 1182-1188.
3.  Deng, T., Hanta, R., and Jintasakul, P., 2013. A new species of Aceratherium 
              (Rhinocerotidae, Perissodactyla) from the Late Miocene of Nakhon Ratchasima,
              Northeastern Thailand. Journal of Vertebrate Paleontology, 33(4): 977-985.
4. เว็บไซต์ http://en.wikipedia.org/wiki/Rhinoceros